ติดไฟประดับ ยึด “ปลอดภัย” เป็นหลัก
สถานที่จัดงานสังสรรค์รื่นเริงมักประดับลูกโป่ง ไฟประดับ หรือไฟกะพริบ ซึ่งความประมาทและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติภัยจากการสังสรรค์รื่นเริง โดยใช้ลูกโป่งที่อัดก๊าซไม่ไวไฟหรือก๊าซฮีเลียม ซึ่งติดไฟยาก จะช่วยป้องกันเพลิงไหม้ ไม่ตกแต่งลูกโป่งอัดก๊าซในจุดเสี่ยงอันตราย แขวนลูกโป่งไว้ในระดับที่พ้นจากการเอื้อมถึงของเด็ก รวมถึงเลือกใช้อุปกรณ์ไฟประดับ ไฟกะพริบที่มีสภาพปลอดภัยและติดตั้งโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากการสังสรรค์รื่นเริง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานที่จัดงานสังสรรค์รื่นเริงมักประดับลูกโป่ง ไฟประดับ หรือไฟกะพริบ ซึ่งความประมาทและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติภัยจากการสังสรรค์รื่นเริง ดังนี้
ลูกโป่งอัดก๊าซ เลือกใช้ลูกโป่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย โดยใช้ลูกโป่งที่อัดก๊าซไม่ไวไฟหรือก๊าซฮีเลียม ซึ่งติดไฟยาก จะช่วยป้องกันเพลิงไหม้ ไม่ใช้ลูกโป่งที่อัดก๊าซไฮโดรเจน เพราะมีคุณสมบัติไวไฟ หากลูกโป่งสัมผัสประกายไฟ เช่น ไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก เทียน รวมถึงหลอดไฟนีออน หรืออยู่ใกล้แหล่งความร้อนจะติดไฟและระเบิดก่อให้เกิดอันตรายได้ ฉะนั้น จึงไม่ตกแต่งลูกโป่งอัดก๊าซในจุดเสี่ยงอันตราย เช่น ใกล้หลอดไฟ บริเวณแหล่งความร้อนหรือแสงแดดแรงจัด เป็นต้น
นอกจากนี้ ไม่ควรผูกลูกโป่งจำนวนมากไว้ในบริเวณเดียวกัน เพราะลูกโป่งจะระเบิดทั้งพวง ทำให้เกิดความร้อนและเปลวไฟลวกผิวหนัง รวมถึงห้ามจุดไฟ สูบบุหรี่ในบริเวณที่ตกแต่งลูกโป่งอัดก๊าซ เพราะหากลูกโป่งได้รับความร้อนหรือประกายไฟ จะระเบิดกลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
“ควรแขวนลูกโป่งไว้ในระดับที่พ้นจากการเอื้อมถึงของเด็ก จะช่วยป้องกันเด็กได้รับอันตรายจากลูกโป่ง เมื่อลูกโป่งแตก ควรเก็บทิ้งทันที เพื่อมิให้เด็กนำเศษลูกโป่งมาเคี้ยวหรือเป่าเล่น ทำให้หลุดลงคอ จนอุดกั้นทางเดินหายใจเสียชีวิตได้ ส่วนไฟประดับ ไฟกะพริบ ควรเลือกใช้อุปกรณ์ไฟที่มีสภาพปลอดภัย โดยเฉพาะสายไฟ หลอดไฟ ขั้วต่อสายไฟและปลั๊กไฟ สายพ่วง โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่ติดตั้ง ไม่นำอุปกรณ์ไฟประดับที่ชำรุดมาใช้งาน เพราะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดเพลิงไหม้
กรณีไฟประดับกะพริบผิดปกติ หรือมีเสียงดังเหมือนไฟฟ้าช็อต ควรปิดสวิตช์ไฟและหยุดใช้งาน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ติดตั้งไฟประดับ ไฟกะพริบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือพื้นที่ชื้นแฉะ และไม่มีน้ำกระเด็นหรือสาดถึง รวมถึงไม่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงและหลอดไฟ เพราะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด”
สำหรับการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรนั้น ไม่ควรเปิดไฟประดับติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีผู้ดูแล พร้อมดับไฟและถอดปลั๊กทุกครั้งหลังใช้งาน จะช่วยลดและป้องกันการเกิดอุบัติภัยจากการสังสรรค์รื่นเริงได้
ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต