ติดอาวุธ ‘นายร้อยรุ่นใหม่’ ผู้นำความปลอดภัยทางถนน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ติดอาวุธ 'นายร้อยรุ่นใหม่' ผู้นำความปลอดภัยทางถนน thaihealth


นับเป็นความพยายามขับเคลื่อนโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้ก้าวหน้า และสร้างนายตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมายในอนาคตที่มีศักยภาพในการสื่อสารพร้อมก้าวสู่การทำงานจริงในโลกยุคปัจจุบัน


ด้วยเหตุนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 3 สถาบันสำคัญ จัดโครงการ "การพัฒนาสมรรถนะนักเรียนนายร้อยตำรวจเพื่อเป็นผู้เชื่อมประสานกับเครือข่ายนักศึกษาในการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนระดับพื้นที่" มีนักเรียนนายร้อยตำรวจปี 4 ทั้งสิ้น 30 คนร่วมกิจกรรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมายจราจร รวมถึงติดอาวุธในการสื่อสารอย่างสมบูรณ์ก่อนสำเร็จการศึกษาและเข้าสู่กระบวนการฝึกงานที่สถานีตำรวจ โดยเป็นรุ่นแรกที่อบรมเรื่องนี้


พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า คุณลักษณะการทำงานของตำรวจต้องมีความรู้ด้านกฎหมายในวิชาชีพของตัวเองเป็นตัวตั้ง มีวิชาการตำรวจ ยุทธวิธีตำรวจ จรรยาบรรณในการบังคับใช้กฎหมายการปกป้องประชาชน และรู้จักวิธีการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม โครงการนี้เข้ามาเติมเต็มสร้างความรู้ด้านจราจรแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจสู่การปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างทักษะในการทำงานเชื่อมประสานกับส่วนงานอื่น และผลิตนักเรียนนายร้อยตำรวจให้เป็นครูที่มีความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้บุคคลต่างๆ ในสังคมได้ นักเรียนนายร้อยตำรวจที่ร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนชั้นปีที่ 4 เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้แล้วจะต้องกระจายกันออกไปฝึกปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ


ติดอาวุธ 'นายร้อยรุ่นใหม่' ผู้นำความปลอดภัยทางถนน thaihealth


ประโยชน์ที่จะได้รับ พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า แน่นอนว่า 4 ปีแรกของการทำงานจะเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน เยาวชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ในท้องที่ ทักษะการสื่อสาร กระบวนการคิดวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากตรงนี้จึงเป็นองค์ความรู้ที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน


การพัฒนาสมรรถนะนายร้อยครั้งนี้ยังสอดคล้องกับภารกิจของตำรวจ ผู้บัญชาการ รร. นายร้อยตำรวจ ระบุว่า กว่า 70% ของคดีการรับแจ้งเหตุที่สถานีตำรวจนั้นไม่ใช่คดีอาชญากรรม แต่เป็นคดีอุบัติเหตุทางจราจร การที่นักเรียนนายร้อยตำรวจได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้นับว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีของตำรวจรุ่นใหม่ต่อการเข้าใจ และรู้จักปรับตัวในการทำงานร่วมกับประชาชนตลอดวิชาชีพ


ในการขับเคลื่อนโครงการฯ ผศ.ดร.เกศรา สุกเพชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นิด้า ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่จัดอบรมแล้วจบ แต่เราใช้กิจกรรมการมีส่วนร่วมเป็นหลักในการดำเนินโครงการ เช่น กิจกรรมเล่าเรื่องราวดีๆ ที่แต่ละคนไปพบเจอ การตั้งปณิธานความตั้งใจ การวิเคราะห์สาเหตุปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ทุกๆ กิจกรรมจะเน้นการปรับความคิดและส่งเสริมความกล้าแสดงออกของแต่ละคนผ่านการเล่าเรื่องจากกิจกรรม ผลจากการทำกิจกรรมคือ นายร้อยตำรวจบอกว่า รู้จักมองหาแง่มุมดีๆ จากเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่พบในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น เช่น ระหว่างนั่งรถเมล์ที่สภาพการจราจรติดขัด พอมองออกไปนอกหน้าต่างก็เห็นคนหนุ่มสาวช่วยพาคนสูงอายุข้ามถนน


ติดอาวุธ 'นายร้อยรุ่นใหม่' ผู้นำความปลอดภัยทางถนน thaihealth


นอกจากนี้ นักเรียนนายร้อยรุ่นใหม่เหล่านี้ยังได้ไปเป็นวิทยากรให้นักศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อย่างที่ เพชรบุรี ทราบโจทย์มาว่านักศึกษาส่วนใหญ่ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาเรียน ดังนั้นก่อนลงพื้นที่นักเรียนนายร้อยตำรวจต้องศึกษาวิธีที่จะนำเสนอเพื่อให้น้องๆ นักศึกษาเข้าใจ สื่อควรเป็นแบบไหน พูดอย่างไร หรือคิดว่า หากพูดโน้มน้าวถึงพ่อแม่ครอบครัวหรือคนรักแล้ว น้องๆ จะตระหนักมากขึ้นหรือไม่ หลังจากการอบรมได้ให้นักศึกษาทำแบบทดสอบ พบว่า น้องๆ มีความเข้าใจเรื่องอุบัติเหตุจราจรมากขึ้น หากสุดท้ายแล้วผลจากการดำเนินโครงการจะช่วยรักษาชีวิตได้เพียง 1 ชีวิตก็เท่ากับว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะทุกชีวิตนั้นมีคุณค่า


ติดอาวุธ 'นายร้อยรุ่นใหม่' ผู้นำความปลอดภัยทางถนน thaihealth


ด้านตัวแทนนักเรียนนายร้อยตำรวจที่ร่วมกิจกรรม นรต.สิรวิชญ์ จันทร์จร หรือ 'เพชร' เล่าความรู้สึกให้ฟังว่า ก่อนร่วมโครงการคิดว่าเป็นการอบรมทั่วๆ ไป แต่พอได้ร่วมทำกิจกรรมแล้วรู้สึกประทับใจในการแชร์เรื่องราวความรู้สึกของแต่ละคน จากที่เรารู้เพียง 1-2 เรื่องก็กลายเป็นรู้ 30 เรื่อง จากกิจกรรมตรงนั้นทำให้แต่ละคนรู้จุดเด่นจุดด้อยของตัวเองและดึงออกมาเป็นพลังสร้างศักยภาพในการทำงานได้


ติดอาวุธ 'นายร้อยรุ่นใหม่' ผู้นำความปลอดภัยทางถนน thaihealth


หนึ่งในตำรวจหญิงร่วมพัฒนาศักยภาพ นรต.พาขวัญ ม่วงศิริ หรือ ไข่มุก เล่าว่า จากการเข้าอบรมฝึกทักษะการพูดและบริหารจัดการทรัพยากรในด้านต่างๆ ทำให้เปิดมุมมองใหม่จากอุบัติเหตุทางถนน ตอนแรกที่เข้ามาศึกษาใหม่ๆ เป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่โครงการนี้ได้ทลายกำแพงนั้น ทำให้เป็นคนที่กล้าแชร์ความรู้สึกมากขึ้น และสร้างสโลแกนประจำตัวว่า 'ไข่มุกผู้ซึ่งจะเป็นวิทยากรที่ดี' และคิดสโลแกนในอนาคตเมื่อได้ปฏิบัติหน้าที่ว่า 'ไข่มุกผู้ซึ่งจะเป็นตำรวจหญิงที่ดี'


ติดอาวุธ 'นายร้อยรุ่นใหม่' ผู้นำความปลอดภัยทางถนน thaihealth


สำหรับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรั้งอันดับ 2 หรือ 3 อย่างต่อเนื่อง และกว่า 50% มีผู้เสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ช่วงอายุประมาณ 15-29 ปี โดยมีจำนวนผู้พิการมากกว่าเสียชีวิตหลายเท่า แม้แต่ในอาชีพตำรวจก็มีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่าอาชญากรรมถึง 5 เท่า ที่ผ่านมา สสส.ได้ขับเคลื่อนงานร่วมกับตำรวจอยู่บ่อยครั้ง ทั้งศึกษาการทำงานของตำรวจในทุกภูมิภาค ดูงานในพื้นที่ต้นแบบ ขับเคลื่อนนโยบายการใช้กฎหมาย รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมในการลดอุบัติเหตุ ส่วนหลักสูตรนี้เป็นการให้ความรู้ร่วมกับการสร้างจิตสำนึกสู่การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านความปลอดภัยในท้องถนน (Safety Change agent)


"เพราะอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทยได้ปีละหลายแสนคน อีกทั้งยังอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของตำรวจโดยตรง สสส.คาดหวังว่านักเรียนนายร้อยตำรวจที่ร่วมโครงการในรุ่นแรกนี้จะพัฒนาศักยภาพและขยายผลสู่การลดปัญหาสำคัญอันยิ่งใหญ่ อันจะเป็นการแตกหน่อขยายเมล็ดพันธุ์ที่ดี" ผู้จัดการกองทุน สสส.ย้ำถึงปัญหาระดับชาติ


โรงเรียนนายร้อยตำรวจถือเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาวิชาชีพตำรวจและการบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ การเติมเต็มจิตสำนึกให้นายร้อยคลื่นลูกใหม่ใส่ใจด้านความปลอดภัยในท้องถนน ถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีเติบใหญ่รับใช้สังคม สมกับที่ยกย่องว่า 'สุภาพบุรุษสามพราน'

Shares:
QR Code :
QR Code