ติดอาวุธทางปัญญาเรื่องเซ็กซ์วัยใสผ่านโลกไซเบอร์
talkaboutsex.thaihealth.or.th
กุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก วันแห่งการเสียตัวของเด็กวัยรุ่น ที่คิดว่า รักคือ เซ็กซ์และที่สำคัญคือ ความคิดผิดๆ แบบนี้ที่เอาตัวเข้าแลก มันมาพร้อมกับเซ็กซ์ที่ไม่ปลอดภัยที่อาจดับอนาคตของพวกเขา
ไม่เฉพาะโรคทางเพศสัมพันธ์ที่ทำลายชีวิต ยังเสี่ยงต่อการเป็นพ่อคนแม่คนขณะที่ยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตที่เกิดใหม่อีกหนึ่งชีวิตได้ดีพอ
รายงานจากยูนิเซฟ พบว่า สถิติแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีของไทย มีจำนวนสูงถึง 150,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดอันดับ 1 ในเอเชีย
เหตุเพราะ เด็กไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่ำมาก ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องเพศ เช่น การนับระยะปลอดภัยหน้า 7 ยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องเพศ เช่น การนับระยะปลอดภัยหน้า 7 หลัง 7 เพื่อป้องกันการท้อง แต่ยังไม่รู้ว่าหน้า 7 นับจากวันไหนหรือคิดว่าการหลั่งนอกทำให้ไม่ท้อง
ขณะที่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แลนด์ มีสถิติการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นต่ำที่สุดในโลก เพราะคนในสังคมมีทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ระบบโรงเรียนมีหลักสูตรเรื่องเพศศึกษารอบด้าน เด็กๆ ของเขามีความรู้และมีช่องทางเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดและป้องกันโรคที่หลากหลาย ทั้งในห้องพยาบาล และมีศูนย์สุขภาพวัยรุ่น
คุณลักษณะของผู้ที่ให้ความรู้และให้คำปรึกษาในเรื่องเพศแก่เด็กและเยาวชนคือ ควรให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง รับฟังได้ทุกเรื่องราว ไม่ตำหนิที่อยากรู้เรื่องเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเดียวกัน ซึ่งความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศก็ไม่ได้มีมากไปกว่ากัน นำสู่ความผิดพลาดเกิดขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ การติดอาวุธทางปัญญาด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกในเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิต และการเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดและวิธีป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์
ในฐานะองค์กรด้านสร้างเสริมสุขภาพที่เน้นเรื่องการติดอาวุธทางปัญญาให้กับอนาคตของชาติอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้าใจคุณลักษณะของสื่อที่ให้ความรู้ความเข้าใจควรมีข้อมูลเรื่องเพศทุกเรื่องที่เด็กและเยาวชนอยากรู้คือ ต้องมีช่องทางแสดงความเห็นหรือตั้งคำถาม และใช้ภาษาที่เยาวชนคุ้นเคย และเป็นสื่อที่ทันสมัย
คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ร่วมกับแผนงานไอซีที และเครือข่ายครอบครัว ได้จัดทำเว็บไซต์ Talk about sex : เปิดพื้นที่วัยใส เข้าใจเรื่องเพศ (http://talkaboutsex.thaihealth.or.th)
“เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชนในเรื่องเพศอย่างถูกต้อง โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ความเข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกต้องในภาษาวัยรุ่นที่เข้าใจง่าย ชุดทดสอบความเข้าใจในเรื่องเพศ กระดานถาม-ตอบ คลิปวิดีโอเข้าใจสุขภาวะทางเพศ แหล่งข้อมูลและความรู้”
แม้ว่าในโลกไซเบอร์จะมีเว็บไซต์ที่ให้ความรู้เรื่องเพศต่างๆ นานาแล้ว แต่เว็บไซต์นี้ไม่เพียงแต่จะเน้นให้เกิดการรับรู้เฉพาะแค่ตัวเด็ก แต่ยังสอดแทรกบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครูในสถานศึกษาที่สามารถนำไปสอนบุตรหลานได้ด้วย ไม่เฉพาะเจาะจงเจาะกลุ่มเด็กเล่นเว็บที่ดาษดื่นในปัจจุบัน แต่อาศัยเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา 12 เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 122 โรงเรียนที่กระจายทั่วประเทศมาช่วยประชาสัมพันธ์
รวมถึงในภาคของกระทรวงศึกษาธิการอย่าง คุณศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นคุณค่าในเรื่องดังกล่าว และช่วยส่งต่อกระจายช่องทางดีๆ ในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ http://www.moe.go.th และเปิดการเชื่อมต่อไปยังหน้าเว็บไซต์ของสำนักกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ http://www.moe.go.th/snp/th เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ดังกล่าวไปยังห้องสมุดประชาชน ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อีก 900 แห่งทั่วประเทศเพื่อร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศที่ถูกต้อง ให้แก่เด็ก เยาวชน ครู อาจารย์ และผู้ที่สนใจต่อไป
ในเมื่อเด็กของเราได้ติดอาวุธทางปัญญาจากความรู้เรื่องเพศ ถือเป็นการฝึกใช้สมองไตร่ตรองพิจารณาถึงผลดีผลเสีย ดีกว่าการใช้อารมณ์เบื้องล่างแทนสมองเบื้องบน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update 23-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่