ติดอาวุธครู สร้างละครเสริมปัญญาโจ๋ไทย
"ค่ายต่อยอดครูละครสร้างปัญญา" จัดโดยมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยครั้งนี้ปีนขึ้นดอยพาน้องเข้าค่ายกันที่มะขามป้อมอาร์ตสเปซ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ประสงค์หลักคือ หวังติดอาวุธทักษะ "ละครชุมชน" กับกลุ่มครู เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอน ต่อยอดจาก "โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ที่ใช้ทักษะการแสดงละครเป็นเครื่องมือสำหรับฝึกทักษะปัญญากับกลุ่มเยาวชนมาแล้ว
นายพฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน ผู้จัดการโครงการละครสะท้อนปัญญาว่า การขยายขอบเขตกิจกรรมละครสะท้อนปัญญาที่ทำกับเยาวชนสู่กลุ่มครู เพราะต้องการกระตุ้นครูให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ทุกคนรู้ดีว่าการเรียนไม่ได้มีแค่การบอกและจดจำ แนวคิดของศิลปะที่แทรกในกระบวนการละครจึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียน-ผู้สอน สื่อสารระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา เกิดวิธีการใหม่ๆ เพราะละครหนึ่งเรื่องล้วนผ่านการคิด วิเคราะห์ ก่อนนำเสนอ
"การชักชวนครูมาร่วมกิจกรรมที่เยาวชนสนใจช่วยเปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะความคิดที่ว่าทุกคนล้วนมีศักยภาพ มีลักษณะความชอบ มีความสนใจที่แตกต่าง วิธีการของครูจึงต้องเปลี่ยน ไม่ใช่การสั่งให้ทำอีกต่อไป แต่ต้องกระตุ้นให้คิดและค้นหาความถนัดร่วมกัน ซึ่งละครคือหนึ่งในรูปแบบ"
ตลอด 4 วันของค่ายครูฯจึงเต็มไปด้วยการเวิร์กช็อปทักษะด้านละคร การผสมผสานระหว่างเนื้อหา วิธีคิด เพื่อนำเสนอในทางสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการขับร้อง การเล่นลิเก การใช้ละครหุ่น
ครูสมจิต ผอมเซ่ง อาจารย์ชีววิทยา โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา สะท้อนความรู้สึกหลังเข้าร่วมกิจกรรมเป็นปีที่ 2 ว่า ชอบการเวิร์กช็อปในครั้งนี้มาก เพราะได้เปิดโอกาสให้ครูได้คิด ได้ฝึกปฏิบัติที่ในชีวิตประจำวันไม่เคยได้ทำ โดยเฉพาะการได้คิดถึงวิธีการสอนของตัวเองตลอด 20 ปี เพราะที่ผ่านมาไปเน้นแค่เรื่องของความรู้แต่ไม่เคยสื่อสารกับเด็กเลย ไม่เคยสอนวิธีคิด ทั้งที่ในชีวิตจริงปัญหาหนึ่งไม่ได้มีคำตอบเดียว เหมือนกับการเป็นคนดี คนเก่ง ไม่ได้เจาะจงแค่ต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องเดียวกันหากตั้งสมมติฐานต่าง มองในมุมที่ต่างออกไป ผลลัพธ์จะต่างออกไป และครูเองก็ไม่ได้ถูกทุกเรื่อง
"นักเรียน ถ้าครูบอกให้อ่านหนังสือเพื่อทำข้อสอบ นักเรียนจะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าบอกว่าจะสอบแบบเติมคำหรือทำเป็นโครงงานจะรู้สึกไม่ชอบ เพราะต้องคิดมากกว่า ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เราเองมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย" ครูสมจิตตั้งข้อสังเกต
ศุภิญดา วันล่ะ ครูโรงเรียนกาวิละอนุกูล จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์กับกลุ่มนักเรียนบกพร่องทางสติปัญญา เล่าว่า ในอดีตเคยมองการแสดงละครเป็นแค่เรื่องบันเทิง แต่เมื่อร่วมกิจกรรมได้ค้นพบแนวทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้สะท้อนความเป็นตัวเองจากการพูด การร้องเพลง การแสดงท่าทางต่างๆ เป็นแนวทางใหม่ๆ ที่จะดึงความสนใจและยืดเวลาการเรียนให้นานขึ้น
"ละครที่เด็กเล่าออกมาสะท้อนในตัวตนของเขา ทำให้เรารู้จักเขามากกว่าเดิม ได้เห็นความกังวล ความดีใจ และยังท้าทายให้เด็กทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ"
ส่วนในมุมของครูแพทย์อย่าง พญ.ปาริชาต วงศ์เสนา (หมอน้อย) ประธานหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สะท้อนประสบการณ์ลงพื้นที่ชุมชนร่วมกับนักศึกษาแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยใช้เครื่องมือละครเข้าร่วมด้วยว่า ละครช่วยเปลี่ยนภาษายากๆทางการแพทย์ไปสู่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านกล้าซักถามอาการของโรค ได้เล่าภูมิหลังของตัวเองที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งการสื่อสารที่ว่านี้ได้ช่วยให้แพทย์ทำงานง่ายขึ้นและตรงเป้าปัญหามากขึ้น
"ละครคือเครื่องมือที่ไปสื่อสารกับชุมชน แต่ไม่ใช่แค่แสดงบทบาทสมมุติ เช่น จะเล่นเป็นคนเป็นโรคมะเร็ง ต้องเข้าใจความทุกข์ของคนที่เป็นโรคจริงๆ ให้ได้ก่อน ต้องเข้าใจความกลัวที่เขามี สิ่งเหล่านี้ได้จากการซักถาม การสังเกต แพทย์เองก็ใช้เวลานี้สื่อสารในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การกินอาหาร สุขลักษณะ สำรวจไปในตัวว่ามีอะไรที่เป็นปัจจัยต่อสุขภาพ"
"มันคือการรู้ "โลก" ของคนไข้ รู้มิติมากกว่าจะสนใจเขาเป็น "โรค" อะไร ทัศนคติเหล่านี้ได้มาจากการทำงานร่วมกัน ละครเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทำงานได้เห็นมิติของผู้รับการรักษา ตัวละครก็พัฒนาได้ ให้มีมากกว่าความบันเทิง ทำให้ละเอียดขึ้นได้ ให้ข้อมูล สร้างมิติมากขึ้น เพื่อเป้าหมายร่วมกันคือการดูแลสุขภาพ" ครูน้อยนิยามถึงทักษะการละครที่นำไปสร้างสรรค์ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ถือเป็นอีกเทคนิคการเรียนรู้ที่ต้องปรับเพิ่มประสบการณ์..สร้างกระบวนการคิดและทำให้เด็กสนุกที่จะทำ
ที่มา: มติชนออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต