ตำบลนาป่าแซง ต้นแบบประชาธิปไตยชาวบ้าน
ที่มา : เว็บไซต์สุขภาวะชุมชน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สุขภาวะชุมชน
ตำบลนาป่าแซง ต้นแบบประชาธิปไตยชาวบ้าน สร้างส่วนร่วมกำหนดธรรมนูญสุขภาวะชุมชน ตัวอย่างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ต้องไปดูงานไกลถึงต่างประเทศ แต่อยู่ไม่ไกลในพื้นที่ชุมชนเทศบาลตำบล นาป่าแซง อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ
ที่นี้เขาใช้หลักการที่ฟังดูแปลกๆ แต่น่าสนใจคือ “รวมแล้วแยก” สังคมของคนไทนาป่า แซงบถิ่มกัน แต่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการแก้ปัญหา ในรูปแบบประชาธิปไตยชาวบ้านอย่างแท้จริง
วชิระ มาประสบ นายกเทศบาล ตำบลนาป่าแซง อธิบายว่า การทำงานตามหลักการรวมแล้วแยก เกิดจากที่ผ่านมาเทศบาลมีหลายหน่วยงานต่างคนต่างทำ ส่งผลให้การจัดการปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ไม่บรรลุเป้าหมาย
จึงตั้งเป็นคณะทำงานไทนาป่าแซงบ่ถิ่มกัน ซึ่งประกอบด้วย ท้องถิ่น หรือ องค์กรบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานรัฐ ซึ่งคือ โรงพยาบาลส่งเสริมส่วนตำบล และกลุ่มองค์กรภาคประชาชน
คณะทำงานไทนาป่าแซงบ่ถิ่มกัน มีเป้าหมายเพื่อดูแลชุมชนตั้งแรกแรกเกิดไปจนเสียชีวิตโดยต้องไม่มีใครในชุมชนไม่ได้รับการดูแลหรือถูกทอดทิ้งไว้ให้โดดเดี่ยว
ในทุกๆ เดือนคณะทำงานจะมาร่วมกันประชุมเพื่อเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนพร้อมทั้งการระดมทรัพยากรของแต่ละหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ อุปกรณ์และกำลังคน หลังจากนั้นจะแยกกันไปทำงานตามบทบาทของตัวเอง
“การรวมกันเป็นคณะทำงานช่วยให้เกิดการประสานงานร่วมกันมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนสามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว โดยหน่วยงานมีเป้าหมายที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น โดยที่จะไม่มีใครถูกทิ้งโดยไม่มีผู้ดูแล”
นอกจากนี้ การทำงานของคณะทำงานจะเชื่อมโยงกับชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการรับฟังปัญหาพร้อมทั้งความต้องการช่วยเหลือ หลังจากนั้นจะนำมาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไข
ที่ผ่านมาคณะทำงานได้นำเอาปัญหาของผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ จนนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันโดยการตั้งวิทยาลัยผู้สูงอายุนาป่าแซงบถิ่มกันโดยรับสมัครผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นมาในตำบลมาร่วมกันทำกิจกรรรม และมีศูนย์ อปพร.ที่ร่วมอำนวยการในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน
นอกจากนี้ในส่วนของครอบครัว จะมีการช่วยเหลือชุมชนในทุกมิติ เพื่อให้เข้าถึงการบริการ สร้างระบบสวัสดิการ โดยมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนที่ยากไร้ในชุมชน โดยที่ผ่านมาได้มีการระดมทุนเงินเพื่อมอบให้ อสม.ไปดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน
“การทำงานแบบคณะทำงานที่เดินไปพร้อมกับการสำรวจปัญหาชาวบ้านทำให้การแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการของชุมชน ทำให้เมื่อมีการสำรวจความพึ่งพอใจพบว่าชาวบ้านกว่า ร้อยละ 99 พอใจในวิธีการทำงานในรูปแบบนี้”
ทั้งนี้ ชุมชนนาป่าแซง อยู่ระหว่างการร่างธรรมนูญสุขภาวะชุมชน เพื่อเป็นแผนงานในการทำงานร่วมกันของชุมชน ที่ครอบคลุมตั้งแต่ การตั้งคณะทำงานไทนาป่าแซงบ่ถิ่มกัน ลักษณะการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตท้องถิ่น องค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน การเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการท่องเที่ยวตลาดชุมชน จนเป็นชุมชนเกื้อกูลไม่ทิ้งกัน และส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนในสถานศึกษา
“ก่อนจะมาเป็นธรรมนูญสุขภาวะจะต้องมีการจัดรับฟังปัญหาจากชุมชนก่อนนำมาบัญญัติเป็นแผนดำเนินการ หลังจากนั้นต้องนำแผนดังกล่าวไปจัดรับฟังความเห็นของชุมชนอีกครั้ง ก่อนจะประกาศใช้ในเดือน มีนาคม ปี2561 นี้”
ชุมชนนาป่าแซงประชาธิปไตยท้องถิ่น
การทำงานในรูปแบบคณะทำงานของชุมชนนาป่าแซง ถือเป็นการทำงานที่เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ได้รับการสนับสนุบจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ซึ่ง ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า สสส.เน้นเรื่องการดูแลสุขภาพองค์รวม สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพจิต โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งให้สามารถจัดเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม มีความสามัคคี เกื้อกูลกัน สร้างอาหารปลอดภัย และทำให้ทุกคนเป็นผู้ผลิตทางด้านเศรษฐกิจได้ จนสร้างสุขภาวะองค์รวม ภายใต้หลักการส่งเสริมสุขภาพ ตัวรักษา ตัวฟื้นฟู และทำให้ทุกคนเป็นผู้ผลิตทางด้านเศรษฐกิจได้
ตำบลนาปาแซง ถือเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการจัดการสุขภาวะชุมชน ที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้ชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้และปฏิบัติตามเป้าหมายเดียวกันได้
โดยหน้าที่ของศูนย์เรียนรู้ต้องเป็นครูในการจัดการเรียนรู้ให้กับเครือข่ายอีก 20 ตำบล โดยที่ผ่านมาศูนย์เรียนรู้สามารถจัดการเรียนรู้กับผู้สนใจปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยครั้ง
และขณะนี้มีศูนย์เรียนรู้สุขภาวะเป็นองค์รวมที่สสส.สนับสนุนทั้งประเทศเกิดขึ้นแล้ว 105 แห่ง ทั้งศูนย์เรียนรู้ในเรื่อง เด็กปฐมวัย ผู้สูงอายุ เยาวชน และยาสูบ
การบริหารจัดการในรูปแบบการมีส่วนร่วมของตำบลนาป่าแซงถือเป็นการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเพราะการทำงานของนาป่าแซงมีรูปแบบคณะทำงานที่รวมองค์กรทั้งหมดในตำบลของเขามาเพื่อมานั่งพูดคุย และใช้กลไกกรรมการหมู่บ้านในการระดมแก้ปัญหา
หลังจากนั้นจะแยกกันทำงานอย่างเป็นระบบ เมื่อทำแล้วมีปัญหาจะกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งเพื่อดูว่าการทำงานมีปัญหาอะไรติดขัดนำมาแก้ไขจนสามารถดำเนินบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ดวงพร บอกว่า การทำงานลักษณะนี้ยังสร้างความเป็นพลเมืองที่รู้หน้าที่ และมีจิตอาสาที่จะช่วยเหลือสังคมเช่นหากมีครอบครัวใด ครอบครัวหนึ่งไม่มีองค์ความรู้ในการทำเกษตรกรรม ครอบครัวที่มีความรู้จะเข้าไปช่วยเหลือสอนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้
“ตำบลนาป่าแซงไม่ใช่คนมายืนพูดต้องการอย่างนั้น เรียกร้องอย่างนี้ เพราะเขามีหน้าที่พลเมืองมีธรรมนูญข้อตกลงในชุมน ทุกคนมีส่วนร่วม เน้นหน้าที่พลเมืองทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ นอกจากรับผิดชอบตัวเองต้องรับผิดชอบคนอื่นด้วย เพราะหน้าที่พลเมืองมีหลักสำคัญคือ จิตอาสาที่จะช่วยเหลือเพื่อนในชุมชน”
ตำบลนาป่าแซง จึงเป็นตัวอย่างของการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชรามาใช้พร้อมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง