ตามไปดูความหมายของ Happy Society (1)
ได้ยิน นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พูดถึง happy society หนึ่งในองค์ประกอบขององค์กรแห่งความสุข หรือ happy 8 มาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปตามไปดูตัวอย่าง ในพื้นที่สักที
ตามความหมายที่ สสส. ได้ให้คำอธิบาย คำว่า happy society นั้นหมายถึงความรักสามัคคี เอื้อเฟื้อต่อชุมชน คนทำงานและคนพักอาศัย ให้มีสังคมที่ดี เป็นกิจกรรมช่วยเหลือสังคมรอบข้าง หากสังคมรอบข้างดี องค์กรที่อยู่ในสังคมนั้นย่อมมีความสุขไปด้วย
ขณะที่คุณหมอชาญวิทย์ อธิบายเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่า หากสังคม มีคนที่นึกถึงคนที่อยู่รอบข้าง ทั้งใกล้และไกลอยู่เสมอ จะเป็นสังคมที่มีความสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองยั่งยืน
ตัวอย่างหนึ่งที่คุณหมอแนะนำให้ลงพื้นที่ไปดู คือ สังคมของ ชาวชะอม อำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งทำอาชีพทำไม้ขุดล้อมขายทั้งหมู่บ้าน
ลุงสายบัว พาศักดิ์ ผู้นำชาวบ้านให้ก้าวสู่อาชีพทำไม้ขุดล้อมขาย และเจ้าของ สวนสายบัวพันธุ์ไม้ เล่าว่า ชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านที่มีประมาณกว่า 6,000 คน เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น “หมู่บ้านไร้สุข”
“ผู้คนส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้าง รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ทุกครัวเรือนจึงเป็นหนี้เงินกู้ ทุกเดือนแต่ละบ้านมักจะผวาหนี เมื่อเห็นเจ้าหนี้เงินกู้ขี่จักรยานยนต์เข้ามาในหมู่บ้านขณะที่ลูกหลานที่เริ่มโต ก็มุ่งหน้าไปทำงานที่กรุงเทพ หรือต่างจังหวัดกันหมด ความแห้งแล้งของผืนดินที่เห็นจนชินตา บดบังหนทาง ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมานำความเปลี่ยนแปลง หรือทำอะไรใหม่ๆ” ลุงสายบัว
กล่าว
ทว่าหลังจากได้มีโอกาสเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ ที่ คุณมีชัย วีระไวทยะ ได้มาจุดประกายให้รู้จัก การปลูกต้นไม้เพื่อส่งขาย ให้โครงการบ้านจัดสรร และสนามกอล์ฟ และความเชื่อว่าน่าจะเป็นหนทางใหม่ที่ทำให้ทุกคนพ้นจน ได้นำความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง รวมถึงความกล้าหาญของ ลุงบัว ที่เดิมเป็นเพียงทหารเก่าเสียงดัง ได้ลุกขึ้นมานำชุมชน โดยยึดแนวทางในการดูแลชุมชน ที่มองความสำเร็จของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ซึ่งคุณมีชัยให้ไว้ว่า ” your win is my win” และยึดมั่นในคำสอนของหลวงพ่อที่ให้ไว้ตอนบวชเป็นเครื่องนำทาง นั่นคือ “สัจจะ ความซื่อสัตย์ และพูดจริงทำจริง”
“เราจะประสบความสำเร็จคนเดียวไม่ได้ หากบ้านเราร่ำรวย แล้วบ้านคนอื่นยังยากจน สุดท้ายเราก็โดนปล้น ล้มกันหมด ไปไม่รอด เหมือนในช่วงแรกๆ ที่เราเริ่มทำ มีบางคนเห็นโอกาส มีความโลภ เห็นแก่ตนเองมากกว่าส่วนรวม ร่วมมือกับคนซื้อ ตัดราคา ซื้อถูกๆ แล้วไปขายแพง ทำให้สิ่งที่เราสร้างกันมาล้มเหลว”
ลุงสายบัวบอกอีกว่า ชีวิตวันนี้ของชาวชะอม มีความสุขมากแตกต่างจากชีวิตเมื่อยี่สิบปีก่อนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการยึดมั่นในส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ส่งผลกลับมาที่สังคม เศรษฐกิจ ครอบครัวอย่างมากมาย
“เราจะประสบความสำเร็จคนเดียวไม่ได้ หากบ้านเราร่ำรวยแล้วบ้านคนอื่นยังยากจน สุดท้ายเราก็โดนปล้นล้มกันหมด ไปไม่รอด”
เรื่อง: พิมพร ศิริวรรณ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ