"ตามสั่ง-ตามส่ง" โปรเจกต์สู้โควิด-19 สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยคนรายได้น้อย

ที่มาและภาพประกอบจาก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ



สสส.เปิดโปรเจกต์"ตามสั่ง ตามส่ง" สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ เปลี่ยนชีวิตวิถีใหม่ เพิ่มรายได้วินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง และร้านอาหารเผยโควิด-19 ทำรายได้วินมอไซต์ ลด 60-70%


ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มีอาชีพไหนที่จะไม่ได้รับผลกระทบ ยิ่งอาชีพบริการ รับจ้างต่างๆ อย่าง มอเตอร์ไซต์ จากเดิมที่รายได้อย่างต่ำ700-800บาทต่อวัน เหลือเพียงไม่กี่ร้อยบาท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้จัดกิจกรรมเพื่อป้องกัน รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละอาชีพ แต่ละหน่วยงาน ชุมชนภายใต้ โครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต ซึ่งมีทั้งหมด55 โครงการ และโครงการตามสั่ง-ตามส่ง เป็น1ในโครงการที่ได้รับความร่วมมือและเห็นผลการดำเนินการที่ชัดเจน


นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนา "ตามสั่ง-ตามส่ง:บิดเมือง" ภายใต้โครงการพลเมืองไทยสู่ภัยวิกฤต โดยจัดที่สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สสส.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการป้องกัน และให้ความรู้แก่ประชาชนด้านสุขภาวะ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะปัญหาสุขภาพได้สร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคทำให้เกือบทุกอาชีพ ทุกคนที่ได้รับผลกระทบ



ดังนั้น เพื่อช่วยคนไทยทั้งด้านสุขภาพและการพัฒนาอาชีพ ความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โครงการตามสั่ง-ตามส่ง เป็น1ในโครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤต ที่ได้มีการทดลองนำร่องในพื้นที่ลาดพร้าวซอย 101 ไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง เบื้องต้นผลการประเมินอยู่ในระดับที่ดี ช่วยวินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ให้มีรายได้ มีงานทำและร้านอาหารในชุมชนสามารถอยู่รอดได้


"แพลตฟอร์มที่ทางสสส.ได้ร่วมกับอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการดำเนินการขึ้น ไม่ว่าจะเป็น line@ หรือ facebook เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้ออาหาร หรือส่งสินค้าต่างๆ ผ่านวินมอเตอร์ไซต์ ซึ่งขณะนี้มีวินมอเตอร์ไซต์เข้าร่วมกว่า 40 คน และมีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 60 แห่ง จากที่ตั้งไว้ว่าจะทดลองในวินมอเตอร์ไซต์ 30 คน และร้านอาหาร 30 แห่งเท่านั้น จากการติดตามเบื้องต้น แพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยเพิ่มรายการให้แก่ร้านอาหาร และวินมอเตอร์ไซต์ได้อย่างดี รวมถึงเป็นการสร้างความร่วมมือของชุมชนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการติดตามประเมินผล และถอดบทเรียนก่อนจะขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป"  นางเข็มเพชร กล่าว


นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย และประธานวินซอยลาดพร้าว 101 กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สมาชิกของวินซอยลาดพร้าว 101 ซึ่งมีจำนวน 364 คนรายได้ลดลง 60-70% เพราะด้วยมาตรการการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือการทำงานที่บ้าน ทำให้คนใช้บริการวินมอเตอร์ไซต์น้อยลงมาก เมื่อรายได้จากเดิม 700-800 บาทต่อวันเหลือเพียงไม่กี่ร้อยบาท หลายคนเกิดความเครียด และเกิดการแย้งลูกค้า ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกัน



เมื่อทางสสส. และอาจารย์จากจุฬาฯ ได้มาจัดโครงการตามสั่ง ตามส่ง ก็ยินดีเข้าร่วมอย่างมาก และจากการได้ทดลองใช้เป็นระยะเวลา 2เดือน ทำให้วินมอเตอร์ไซต์ที่เข้าร่วมทดลอง 40 กว่าคนได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และการที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์สั่งอาหาร ส่งของ ถือเป็นยกระดับมาตรฐานอาชีพมอเตอร์ไซต์รับจ้าง เพราะมีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจน และเป็นการทำงานที่ไม่ขัดกับมาตรฐานทางวิชาชีพ ไม่เอาเปรียบชุมชนใกล้ชิด ผู้บริโภคและร้านค้า


"ตอนนี้ทุกอาชีพล้วนได้รับความเดือนร้อน ซึ่งในส่วนของมอเตอร์ไซต์รับจ้างได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะรถมอเตอร์ไซต์มีความห่างกันตามเบาะ คงไม่สามารถเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรได้ และการที่เราเป็นคนในพื้นที่ รู้จักทุกซอยของลาดพร้าว แต่กลายเป็นว่าต้องเห็นผู้ให้บริการส่งอาหารอื่นๆ มารับอาหารจากร้านค้าไปส่ง ดังนั้น การที่สสส.และจุฬาฯ เข้ามาจัดโครงการดังกล่าว เป็นสิ่งที่ดีมากช่วยให้วินมอเตอร์ไซต์ได้มีรายได้ และเราก็ได้รู้จักสนิทสนมกับร้านค้าต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งแพลตฟอร์มที่สสส.จัดทำขึ้น ไม่มีการหักหัวคิด คิดราคาระยะส่งตามที่กรมขนส่งกำหนด ไม่มีการเอาเปรียบฝ่ายใดทั้งสิ้น"  นายเฉลิม กล่าว



ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี หัวหน้าชุดโครงการพลเมืองไทยสู้ภัยวิกฤติ กล่าวว่า โครงการฯ ใช้แนวคิด Resilience คือ การใช้ศักยภาพทั้งหมดที่มีต่อสู้เพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอด โดยการบูรณาการนำเอาความรู้ ความเข้าใจพฤติกรรม และบริบทของชุมชน มาใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการตอบรับกับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น การใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานความรู้เดิม (Cognitive resilience) กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน (Behavioral Resilience) โดยใช้ผู้คน เครือข่าย และทรัพยากรที่มีอยู่เดิม (Contextual resilience) มาสร้างทางออกในการดำเนินชีวิตในช่วงวิกฤติและหลังวิกฤติ ช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบ สามารถดำเนินชีวิตด้วยความต่อเนื่องได้


นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ หัวหน้าโครงการตามสั่ง ตามส่ง กล่าวว่า กลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง และร้านค้า ผู้บริโภคในชุมชนลาดพร้าว 101 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กลไกตลาดออนไลน์ปัจจุบันยังถูกทำให้บิดเบี้ยว ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารที่มากขึ้น จึงเกิดโครงการตามสั่ง ตามส่งโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ชุมชนเป็นฐานการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างบิดสิ่งที่เบี้ยวกลับมา โดยมีผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย กว่า 50 ร้าน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กว่า 40 คน นับเป็นนวัตกรรมทางสังคมในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ให้เรียนรู้ พัฒนา และมีสำนึกร่วมในฐานะเจ้าของชุมชน พร้อมแสดงให้เห็นว่า คนตัวเล็กที่ด้อยอำนาจต่อรอง สามารถรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่เป้าหมายได้


ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ ศูนย์ประสานงานวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการตามสั่ง-ตามส่ง ส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และชุมชน และช่องทางการจำหน่ายของเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาและพึ่งพิงตัวเอง และเศรษฐกิจพอเพียง สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง สืบสานความเป็นชุมชน ส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อให้เกิดวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีถูกสุขลักษณะ เพิ่มความมั่นคงทางรายได้ สร้างอำนาจการต่อรอง และช่วยเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานกับรูปแบบงานในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ลูกจ้างทำงานบ้าน ทำความสะอาด หาบเร่แผงลอย ร้านตัดผม


 

Shares:
QR Code :
QR Code