ตามล่าหาความสุข คืนสู่…สังคมไทย

ความปกติสุขและความปรองดอง

 

ตามล่าหาความสุข คืนสู่…สังคมไทย          หัวข้อการประชุมปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย ร่วมสร้างประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ประเทศแห่งความพอเพียง ความดี ความงาม ความมีปัญญา และความสุข เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 สอดคล้องต้องกับสถานการณ์ในวันนี้ด้วยความบังเอิญ หรือไม่อย่างไรก็ตาม คงไม่จำเป็นต้องไปหาคำตอบ เพราะสาระอยู่ที่…มีทางไหนบ้าง?? ที่จะนำไทยคืนสู่ความปรองดองและสมานฉันท์

 

          ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ สนองตอบต่อพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2552 อย่างพอเหมาะพอเจาะ

 

          “ความสุข ความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญ มั่นคง เป็นปกติสุข ความเจริญมั่นคงทั้งนั้นจะสำเร็จผลเป็นจริงไปได้ ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติมุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติ รู้ตัว ด้วยปัญญา รู้ผิด และด้วยความสุจริต จริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่นๆ”

 

          ความปกติสุขของบ้านเมือง

 

          ความปรองดองสมานฉันท์

 

          เป็นสุดยอดปรารถนาที่ทุกคนในสังคมไทยอยากเห็นและได้สัมผัสอีกครั้งจนถึงตลอดไป และโจทย์ปัญหานี้ก็ไม่ได้ถูกมองข้ามสำหรับกลุ่มนักคิด นักวิชาการ นักวิจัย นักการศึกษา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ อาจารย์ หมอ ผู้นำชุมชน รวมทั้งนักธุรกิจระดับแถวหน้าชั้นหัวกะทิ ที่นั่งระดมสมองกันเดือนละ 2 ครั้ง ภายใต้ปฏิบัติการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ที่สุดในโกล ซึ่งมีอาจารย์หมอประเวศ วะสี เป็นประธาน

 

          ประเด็นการประชุมที่โดนใจ “ฤาจะมีจุดคานงัด : แง่คิดและข้อเสนอเพื่อนำไทยคืนสู่ความปรองดองและสมานฉันท์” ทำให้หาความสุขวันนั้นหนาแน่นเป็นพิเศษ เพราะต่างคนต่างก็กำลังตามหาความสุขที่ไม่มีการแบ่งสีแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายเช่นเดียวกัน

 

          ผู้นำเสนอแนวคิด ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เริ่มต้นจากความเป็นมาของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ว่าเกิดจากการตั้งโจทย์ปัญหาของอาจารย์หมอประเวศที่ว่า

 

          สังคมไทยวิกฤต ซับซ้อน จะมีจุดคานงัดอะไรบ้าง??? ที่จะนำสู่การปรองดองและสมานฉันท์

 

          เป็นการตั้งคำถามเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

          ผลจากการศึกษา วิจัย ทั้งในเชิงปริมาณคือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย และเชิงคุณภาพการพิเคราะห์จากประวัติศาสตร์การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ และเส้นทางการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย ดร.เอนก ตอบคำถามนี้อย่างฟันธงว่า

 

          มองหาจุดคานงัด…ไม่มี!

 

          แปลไทยเป็นไทยว่า..มองหาหนทางการปรองดองและสมานฉันท์ไม่พบ

 

          ความหวังสูญสลายลงไปในฉับพลัน..ใช่ไหมครับ

 

          หากใครรู้สึกหรือคิดอย่างนี้ล่ะก็ ขอบอกว่า ไม่ใช่ “ตัวจี๊ด” แฟนคลับ ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้น่าอยู่อย่างแน่นอน เพราะถ้าเป็นอะไรที่ทำกันง่ายๆ ก็คงไม่เรียกว่าการปฏิรูป

          เราอาจจะถอนหายใจ..เฮ้อ..เหนื่อยจัง ..ได้

 

          เราอาจจะตั้งคำถามด้วยความละเหี่ยหัวใจว่า สังคมไทยจะไม่มีวันตามหาความสุขเจอกระนั้นหรือ ..ได้

 

          แต่เราต้องไม่ท้อแท้และถดถอย เหมือนอย่างที่อาจารย์เอนกสรุปว่า

 

          แม้ไม่มีจุดคานงัดชัดเจนเพื่อการนำสังคมไทยคืนสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ แต่สังคมไทยมีจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญ ที่เพิ่มความเชื่อมั่นให้เราได้ว่า ในระยะเวลาหนึ่ง “โรคการเมือง” ในสังคมไทยจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็นการปรับตัวเพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นไม่ใช่การรักษาไข้การเมืองเฉพาะทาง แบบฉาบฉวยเหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว

 

          โรคการเมือง เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร การต่อสู้บนท้องถนน การล้มรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะประชาชนไม่ยอมรับ และสะท้อนความรู้สึกผ่านการเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากการต่อสู้ในอดีตไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาทมิฬ

 

          ฉะนั้น แทนที่เราจะมัวแต่หมกมุ่น เหนื่อยหน่ายต่อปรากฏการณ์ในสังคมไทย และตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่บ้านเมืองจะสงบสุข คงเป็นเวลาที่ต้องลองคิดในเชิงบวกบ้าง

 

          เหมือนอย่างที่อาจารย์หมอประเวศสรุปว่า “นี่เป็นโอกาสถ้าบ้านเมืองไม่วิกฤต การแก้ปัญหาพื้นฐานทำไม่ได้ สังคมไทยตื่นตัวทางการเมืองยาก พลังของสีเหลืองและสีแดงทำให้การตื่นตัวทางการเมืองเป็นไปอย่างสร้างสรรค์”

 

          สรุปได้ว่า อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีๆ คงไม่สามารถได้มาฟรีๆ หรือเนรมิตให้เป็นไปในวันสองวันเพราะของดีๆ ไม่ได้หาได้ง่ายๆ

 

          ประเด็นนี้มองในแง่ดี ต้องมองว่าเป็นการ “ลอกคราบประชาธิปไตย”

 

          เพราะประชาธิปไตยแบบตุลามหาวิปโยค ถึงเวลาสิ้นสุดแล้ว วันนี้การเมืองเข้าสู่ยุคต้องฟังประชาชน ทหารตำรวจ จะใช้อำนาจไม่ได้อีกแล้ว ประชาธิปไตยที่จะไปรอดเป็นประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับทุกๆ สีที่เกิดขึ้นในสังคม ต้องมีธรรมาภิบาล ต้องฟังเสียงข้างมาก แต่เคารพเสียงข้างน้อย

 

          ความสุขของคนไทยจะกลับมาได้ เห็นทีจะต้องรู้จักคำว่า Positive Thinking และที่ลืมไม่ได้คือ ย่อยสลายความยากจน ให้คนไทยทุกชนชั้นมีการกินดี อยู่ดี และการศึกษาดี เมื่อชีวิตพื้นฐานมีคุณภาพที่ดีสมปรารถนา ในเวลาไม่นานไม่ช้า คุณภาพการเมืองย่อมต้องดีตาม ประชาชนก็จะไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ของการเมืองระบบอุปถัมภ์ที่เกาะกินระบบการบริหารราชการแผ่นดินของไทยมานานเท่านาน

 

          ไม่มีคำว่า “สายเกินไป” กับการทำสังคมไทยให้มีความสุขขอเพียงเริ่มจากแนวคิด และมีจิตใจที่ตั้งมั่นของตัวเองก่อน..ดังพระราชดำรัส “ในหลวง” นั่นคือ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code