ตามรอยชาวนาบางแก้ว แหล่งชุมชนคน 3 นา

 ตามรอยชาวนาบางแก้ว แหล่งชุมชนคน 3 นา

 

          ว่ากันว่า… การหาโอกาสอยู่กับเด็กเล็กและผู้สูงวัย จะช่วยด้านพัฒนาการของสมองและจิตใจได้ อาจเพราะความไร้เดียงสาของเด็ก ประกอบกับความเป็นผู้รู้และมากด้วยประสบการณ์ของผู้สูงอายุ ที่ทำให้สมองของวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่สามารถได้รับทั้งความผ่อนคลายและความแปลกใหม่ในคราวเดียวกัน

 

          กลุ่มลูกระนาด เป็นกลุ่มเด็กประถมวัยจากโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธา ในตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งรวมตัวกันราว 20 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่อันใหญ่ยิ่งในการดูแลรักษาวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตัว

 

          จุดเริ่มต้นของภารกิจนี้เกิดจากความคิดของเด็กหนุ่มที่ชื่อ น้อย หรือ นายอภิเชษฐ์ เทพคีรี ซึ่งเป็นลูกหลานบางแก้วคนหนึ่ง ที่ได้ผันตัวเองจากการใช้ชีวิตเด็กนาฏศิลป์มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการชักนำเด็กๆ ให้รู้จักรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในบ้านเกิด ภายใต้การเข้าร่วมโครงการ สื่อพื้นบ้านสานสุข ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

 

          พี่น้อย เล่าถึงการรวมตัวของเด็กกลุ่มนี้ว่าเริ่มต้นจากการฝึกหัด ละครชาตรี ซึ่งเป็นละครพื้นบ้านของจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นเด็กๆ ได้มีความคิดไปถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวในท้องถิ่นที่เคยได้ยินได้ฟังจากญาติผู้ใหญ่ เมื่อเห็นว่ามีหลายอย่างน่าเรียนรู้ จึงมีการจัดกิจกรรมแรลลี่เพื่อตระเวนไปสัมผัสภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตั้งแต่เกิดมาพวกเขายังไม่เคยได้เห็น

 

          พวกเด็กๆ ส่วนมากจะได้ยินจากคำบอกเล่าของพ่อแม่ ทั้งเรื่องการใช้วัวทำนา การถอนกล้า ดำกล้า เกี่ยวข้าว การทำนาเกลือ กิจกรรมนี้จะให้เด็กในกลุ่มลูกระนาดได้ไปเห็นของจริงจากคนรุ่นลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย ให้เขาได้สัมผัสและซึมซับให้มาก เพื่อให้เกิดการหวงแหนและร่วมกันอนุรักษ์ให้มันดำรงอยู่ต่อไป

 

          ในการลงพื้นที่สัมผัสวิถีชีวิตชาวบางแก้ว โดยมีมัคคุเทศก์น้อยเป็นสมาชิกกลุ่มลูกระนาดนั้น เพียงแค่เอ่ยถามคำถามสั้นๆ ถึงความน่าสนใจในท้องถิ่นบางแก้ว กลับได้รับคำตอบมากมายอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะได้ยินจากเด็กตัวเล็กๆ โดยเฉพาะความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม คน 3 นา อันประกอบไปด้วย นาข้าว นาเกลือ และนาทะเล

 

          น้องอุ้ม หรือ ด.ญ.วรรธนา เรืองพาที อายุ 11 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งจัดว่าเป็นเด็กรุ่นใหญ่ที่สุดในบรรดาสมาชิกกลุ่มลูกระนาด เล่าถึงความสำคัญของท้องนา 3 ประเภทที่ว่านี้ ด้วยถ้อยคำฉะฉานไม่ต่างจากเด็กสมัยใหม่ในเมืองหลวง

 

          โดยเธอบอกว่าได้ประสบการณ์อย่างมากในการเข้าร่วมโครงการนี้ ได้ตระหนักลึกซึ้งถึงภูมิปัญญาของบ้านเกิดตัวเอง ทำให้ได้หันกลับมามองความสำคัญในสิ่งที่เคยมองข้ามไป ทั้งที่อยู่ในท้องถิ่นมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการดำนาปลูกข้าว การทำนาเกลือ รวมไปถึงการออกทะเลหากุ้ง หอย ปู ปลา

 

          ที่บ้านหนูก็มีนาแต่หนูไม่เคยดำนาเอง พอหนูสนใจหนูก็เริ่มถาม ถามไปถามมาก็ได้รู้ว่าถ้าไม่ทำนาเราก็จะไม่มีข้าวกิน ถ้าไม่มีการทำนาเกลือ ก็จะไม่มีเกลือซึ่งทั้งข้าวและเกลือเป็นสิ่งจำเป็น แล้วก็ยังได้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ของท้องทะเลเพชรบุรีในฐานะที่เป็น อู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งอาหารทะเลมากมาย

 

          ด้าน น้องนุชหรือ ด.ญ.นุศรา สินชัย อายุ 9 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เธอคนนี้เป็นน้องนุชสมชื่อ เพราะอายุน้อยที่สุดในกลุ่มลูกระนาด แต่ความรอบรู้ในท้องถิ่นบ้านเกิดนั้น ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร เด็กรุ่นพี่รู้อะไรเธอก็รู้อย่างนั้น และแน่นอนว่าเธอรู้จักท้องถิ่นของเธอได้ดีกว่าผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่ใคร่จะเชี่ยวชาญในวิถีชีวิตแบบคน 3 นา

 

          ที่นาทะเลมีปลาตีน มีปูก้ามดาบกินไม่ได้ มีหอยนางรม ส่วนข้างทางไปทะเลก็มีต้นชะมวง เด็ดใบมาใส่ไข่เจียวก็ได้ เอาไปทำทอดมันก็อร่อยคำบอกเล่าจากน้องนุชที่ดูไม่ได้เป็นทางการเหมือนอย่างผู้ใหญ่เขาพูดกัน แต่จะเห็นได้ว่าเธอเข้าใจความ สำคัญของแหล่งวัตถุดิบทำกินในท้องถิ่นเป็นอย่างดี ซึ่งนั่นเองที่จะทำให้เธอสามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้อย่างสบาย

 

ตามรอยชาวนาบางแก้ว แหล่งชุมชนคน 3 นา

          ร้อยละ 80 ของคนในชุมชนบางแก้วจะประกอบอาชีพเวียนวนอยู่กับการทำนาข้าว นาเกลือ และทำประมง ดังนั้น ความผูกพันที่เด็กๆ มีจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง จึงเปรียบเสมือนการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

 

          ทว่าในทรรศนะของบรรดาพ่อแม่พี่น้องซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ถึงแม้อยากให้วัฒนธรรมประเพณีที่ผ่านๆ มา ยังคงมีอยู่เหมือนแต่เก่าก่อน แต่เพราะต้องต่อสู้กับความรู้สึกเหนื่อยยากที่สัมผัสมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการดำนา เกี่ยวข้าว หาบเกลือ หรือการออกทะเล จึงไม่แปลกหากพวกเขามีความคิดหวังจะไม่ให้ลูกหลานลำบากเหมือนตัวเอง

 

          ส่วนใหญ่คนแถวนี้จะรับจ้างหาบเกลือ รายได้ดีตกเดือนละ 2 หมื่นบาท แต่เหนื่อยเพราะต้องแบกกันจนไหล่ด้าน พ่อแม่ส่วนใหญ่เลยไม่อยากให้ลูกทำเสียงสะท้อนจาก ผู้ใหญ่เก๋ หรือ นายสมพงษ์ หนูศาสตร์ ประธานชมรมเกลือทะเลกังหันทอง ผู้ทำหน้าที่วิทยากรอธิบายให้เด็กๆ รู้จักกับกรรมวิธีการทำนาเกลือ และขั้นตอนกว่าจะมาเป็น เกลือ เริ่มตั้งแต่การได้ดอกเกลือ ซึ่งเป็นเกลือบริสุทธิ์ ก่อนการตกผลึกเป็นเกลือเม็ด ซึ่งแบ่งลักษณะออกเป็นตัวผู้ (เม็ดแหลมยาว) และตัวเมีย (เม็ดกลมสั้น) จากนั้นหากปล่อยให้นาเกลือเค็มเกินไปจะได้เป็นดีเกลือ มีลักษณะเป็นเกล็ดและมีรสเค็มจนขม มักเอาไปใช้ทำยาระบาย

 

          ขณะที่ ลุงแกะ หรือ นายปัญญา พูนศักดิ์ อายุ 65 ปี ประกอบอาชีพทำนา เป็นผู้ถ่ายทอดตัวอย่างการใช้วัวไถนา ซึ่งหาดูไม่ได้อีกแล้วในชุมชนบางแก้ว แม้กระทั่งในนาของลุงแกะเอง เพราะทุกคนต่างหันไปใช้รถไถนาหรือเรียกกันติดปากว่าควายเหล็ก เขาใช้รถกัน ลุงก็ต้องใช้รถ เพราะมันเร็ว ลุงเองก็คิดอยากให้ทุกอย่างมันเหมือนแต่ก่อนมีความสนุกสนาน ใช้วัวไถทำให้ได้สัมผัสถึงความละเอียดในวิถีชีวิตชาวนา แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเหนื่อยและไม่ทันกิน

 

          เช่นเดียวกับ ป้ากัญญา หรือ นางกัญญภา พรรณนิกร อายุ 58 ปี ผู้สอนการดำนาให้เด็กๆ ได้ลอง เริ่มตั้งแต่วิธีการจับต้นข้าวปักในนา แต่ปัจจุบันที่นาของป้าก็เหลือเอาไว้สำหรับปลูกกินกันในครัวเรือน เท่านั้น และก็เก็บไว้สำหรับลูกหลานเมื่อแก่เฒ่าจะได้มีที่นาปลูกข้าวกินเองเหมือนกับตน

 

          ที่สุดแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นที่เด็กๆ กลุ่มลูกระนาดได้รับความรู้และความสนุกสนานจากสัมผัสชีวิตจริงของ คน 3 นา ในชุมชนของตัวเอง แต่ด้วยความมีเลือดเนื้อในฐานะที่เป็นลูกหลานชาวชุมชนบางแก้ว กอปรกับความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นตามคุณสมบัติของวัยเด็ก ทำให้อดคาดหวังไม่ได้ว่าประเพณีการทำนาข้าว นาเกลือ และทำประมงในนาทะเล จะยังคงเป็นอาชีพหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงชาวเมืองเพชรบุรีสืบต่อไปอีกนาน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ภาพประกอบ: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update 20-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code