ตากโมเดล ฝึกอาชีพเพื่อคนพิการ
เงินอุดหนุนคนพิการ ปรับเพิ่มจาก 500 บาท เป็น 800 บาท ที่รัฐจ่ายให้คนพิการทั่วประเทศ 1.66 ล้านคน ตามมติคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 เป็นการปรับครั้งแรก ในรอบ 20 ปี หลังจากรัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้คนพิการต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่า เงินที่เพิ่มมาเพียง 300 บาท รวมเป็น 800 บาท ยังไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายประจำวันของ คนพิการและผู้เลี้ยงดู
ทำให้คนพิการ ที่พอจะเดินได้หรือบกพร่องประเภทความพิการบางส่วน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องออกจากบ้านมาทำงาน หารายได้ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายครอบครัว ด้วยการรวมกลุ่ม รวมตัวช่วยเหลือพึ่งพากันและกัน ในรูปแบบของชมรม สมาคม หรือกลุ่มสตรีพิการและคนพิการสูงอายุ เป็นต้น
เช่นเดียวกับ การรวมตัวสร้างอาชีพของคนพิการ จ.ตาก ด้วยการตั้งชมรมคนพิการเทศบาลเมืองตาก ประดิษฐ์ กระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ขายในงานประเพณีจังหวัดต่อมาทำขายเป็นของฝากและของที่ระลึกด้วยการนำกะลามะพร้าวที่เหลือใช้ จากการทำอาหารพื้นบ้านและของฝาก จ.ตาก คือ เมี่ยง มาประดิดประดอยตกแต่งเป็น กระทงกะลา ที่สวยงามเป็นสินค้าทำมือของคนพิการ
มนตรี แสงวัฒนะรัตน์ ประธานชมรมคนพิการเทศบาลเมืองตาก บอกว่า คนพิการทุกคนมีความสุขและดีใจที่ได้ปรับเงินเพิ่มแต่เงินที่ปรับยังไม่พอต่อค่าใช้จ่าย คนพิการที่นี่จึงต้องออกมาหางานทำ ด้วยการรวมกลุ่มกันทำ กระทงกะลา เริ่มทำครั้งแรกเมื่อ 2 ปีขายเป็นกระทงไปลอย ต่อมาเห็นว่ามันน่าจะเป็นของฝากและของที่ระลึกได้ จึงทำกันมาเรื่อยมียอดสั่งทั้งจากคนในเมืองตากเองและต่างจังหวัด ผลิตแทบไม่ทัน
มนตรี เล่าถึงวิธีการทำกระทงกะลาเริ่มต้นด้วยการขัดกะลาให้มันวาว เอาด้ายสีขาวมาพันเป็นไส้เทียน ทำเป็น 3 ขาเหมือนตีนกา เรียกว่า พันตีนกา นั่นเอง ขั้นตอนต่อมา นำแผ่นเทียนมาหลอมใส่กะลา เอาตีนกาใส่ตรงกลางเป็นไส้เทียน เมื่อเทียนแข็งแห้งแล้ว ก็ตกแต่งกะลา ใช้ดินเหนียวหรือที่นี่เรียกดินไทย ปั้นเป็นรูปดอกไม้ใบไม้ นกยูง หงส์ หรือประดิษฐ์เป็นลายไทยต่างๆ และทาสีจนสวยงาม
"ชมรมเรามี 40 คน จะแบ่งกลุ่มกันทำตามความถนัด ให้งานไปทำที่บ้าน แล้วนัดกันมาส่งให้อีกกลุ่มทำต่อแต่มีบางคนชำนาญแล้วทำเองคนเดียวเลยทุกขั้นตอนพอได้กระทงมากพอ ก็รวมกันไปขายตามที่ที่จัดงาน ขายใบละ 150-450 บาท แล้วแต่ความยากง่ายในการทำหรือแล้วแต่ต้นทุนราคาที่แต่ละคนตั้งไว้ เช่น คนทำมาส่งราคา 200 บาท ชมรมมาตั้งขาย 300 ได้กำไร 100 เข้ากองทุนชมรม ไว้ช่วยเหลือคนพิการที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิต" มนตรีเล่าอย่างอารมณ์ดีและบอกถึงความรู้สึกในฐานะคนพิการคนหนึ่งว่า
หลายปีก่อนไม่กล้าออกนอกบ้านเพราะอายในความพิการของตัวเอง ตอนนั้นสังคมยังไม่ยอมรับ จึงไม่มีอาชีพอะไรอยู่บ้านเฉยๆ แต่พอมาวันนี้สังคมเปิดกว้างมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องอาชีพคนพิการ ประกอบกับมีสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ให้คนพิการมากมายจึงอยากเชิญชวนคนพิการออกจากบ้านมาทำงานให้มากขึ้น มาต่อสู้กับความอายออกมาสู่สังคม มาใช้ชีวิตในปัจจุบันแบบที่เราเป็น
นอกจากทำกระทงกะลา แล้วยังฝึกอาชีพเย็บปักถักร้อย ถักโครเชต์ นำโดยกลุ่มพิการของ นฤมล สีหมื่น หรือ เปิ้ล คนพิการไร้แขน ที่ถักโครเชต์ด้วยเท้าทั้งสองข้างอย่างคล่องแคล่ว ทำเป็นผ้าพันคอ หมวก กระเป๋าและพวกกุญแจ จำหน่ายเป็นของที่ระลึก รวมถึง งานสานตะกร้าพลาสติก ของกลุ่มคนพิการชายสูงอายุถือเป็นการรวมกลุ่มคนพิการตัวอย่าง ที่ออกนอกบ้านมาสร้างงาน…สร้างอาชีพ แบ่งเบาภาระครอบครัวโดยไม่อายใคร…
เปิ้ล บอกว่า ทำหลายอาชีพเพราะอาชีพเดียวไม่พอกินพอใช้ ต้องดูแลพ่อแม่ด้วย งานที่ทำมีทั้งกระทงกะลา ถักโครเชต์ ขายลอตเตอรี่และช่วยพี่สาวขายน้ำลำไย น้ำกระเจี๊ยบในตลาดตอนเย็น ถ้าเรามีใจสู้แล้วไม่ต้องอายในสิ่งที่เป็น ส่วนเงินที่รัฐให้ 800 บาท มันก็มากนะ แต่ยังไม่พอ ซื้อกับข้าววันหนึ่งก็เกือบ 100 บาท แล้ว หากเป็นไปได้อยากขอเดือนละ 1,500 บาท และอยากให้รัฐเห็นคุณค่าของคนพิการมากกว่านี้
จากการสังเกตการณ์ระหว่างทีมข่าวพูดคุยกับกลุ่มคนพิการ จ.ตาก หลายคนมีสีหน้ายิ้มแย้ม อารมณ์ดี ไม่เขินอายและเครียดกับสิ่งที่เป็น และบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คนพิการที่นี่ไม่อยู่ติดบ้าน จะออกมาสู่สังคมพบปะผู้คนโดยเฉพาะช่วงเย็น หลังจากทำงานเสร็จมักจะชวนกันไปนั่งเล่นที่ สวนสาธารณะริมปิง มีพื้นที่สำหรับคนพิการพักผ่อน ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำเป็น ชุมชนต้นแบบเอื้อต่อการดำเนินชีวิตคนพิการ (Universal Design Community Model)
นภา เศรษฐกร อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) บอกว่า จ.ตาก เป็นเมืองต้นแบบ อารยสถาปัตย์ ได้รับรางวัลสถานที่อารยสถาปัตย์ ว่าด้วยการอำนวยความสะดวก ปลอดภัย เป็นธรรมสำหรับคนพิการ มีสวนสาธารณะริมปิง เป็นที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการอย่างน้อย 5 อย่าง คือ ทางลาดขึ้นลงวีลแชร์ 13 จุด ทุกๆ 200 เมตร มีทางราบรถเข็น ที่จอดรถคนพิการและที่นั่งคนพิการ มีจุดการบริการป้ายสัญลักษณ์แสดงสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ และห้องน้ำคนพิการ
"นโยบาย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องการให้คนพิการมีชีวิตอิสระ มีพลัง มีสิทธิ มีความเสมอภาค เท่าเทียมในสังคม อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ คนพิการก็เหมือนคนปกติที่มีความต้องการเมื่อมีทางลาดให้รถวีลแชร์ วิ่งได้ มีรถเมล์ชานต่ำ มีลิฟต์ หรืออื่นๆ ให้คนพิการ ก็สามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้ ไม่เป็นภาระครอบครัว" อธิบดี พก. กล่าวและว่า ขอเชิญชวนคนพิการออกนอกบ้านมาใช้ชีวิตปกติร่วมกันในสังคม ออกมาทำในสิ่งที่อยากทำ มาพบปะผู้คน มาฝึกอาชีพ แม้ว่าจะบกพร่องในบางเรื่อง แต่โดยรวมแล้ว อาจมีศักยภาพมากกว่าคนปกติด้วยซ้ำไปขอให้ออกมาทำงาน มาเที่ยวห้าง มาสวนสาธารณะ หรือไปในที่ที่อยากไป จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ จ.ตาก เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องภูมิภาค เมืองต้นแบบสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานคนพิการ สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติในชุมชน ได้แก่ ชลบุรี กาญจนบุรี พิษณุโลก ตาก น่าน ขอนแก่น นครพนม ภูเก็ต พังงา และ กระบี่ ยังมีอีกหลายจังหวัดอยู่ระหว่างปรับสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งมวลชน กระตุ้นให้คนพิการออกจากบ้านมาสู่สังคมภายนอก
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก