ตั้งเป้าเพิ่ม “กิจกรรมทางกาย”
คำว่า "กิจกรรมทางกาย" (PhysicalActivity : PA) คนไทยอาจยังไม่คุ้นหูนัก จึงขออธิบายว่า การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่นั่งนิ่งเฉย และเชื่อหรือไม่ว่าหากกิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงพอในชีวิตประจำวันอาจนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มากมาย นำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก อาทิ การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น
ล่าสุด นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตั้งเป้าให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ในปี 2563 จากในปี 2557 มีกิจกรรมทางกายเพียงร้อยละ 67.6 และตั้งเป้าลดอัตราการชุกของภาวะน้ำหนักเกินให้ลดลงร้อยละ 10 โดยปี 2558 จะเพิ่มการเพิ่มกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับทุกช่วงวัย รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะในโรงเรียน ในชุมชน และลดเวลาของพฤติกรรมเนือย นิ่งจากการนั่ง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก อายุ 6-14 ปี ซึ่งมีแนวโน้มอ้วนลงพุงมากขึ้น
ประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวต่อว่า เด็กถึงร้อยละ 41 ใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวี 6 ชั่วโมงต่อวัน และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งอื่นๆ อาทิ นั่งเรียนทั้งในเวลาและเรียนนอกเวลา เล่นเกม รวม 13.5 ชั่วโมงต่อวัน และพบว่า หากเด็กในวัยเรียนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จะส่งผลต่อพัฒนาการทุกด้านเพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นอนาคตของชาติที่สมบูรณ์ได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่สร้างเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนเมือง ได้แก่ โครงการเมืองเดินดี และโครงการลานกีฬาพัฒน์ เพื่อ สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงคำนึงถึงการพัฒนาคนและชุมชนแออัดให้มีสุขภาพแข็งแรงและสุขภาพใจที่ดี นำร่องไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ลานกีฬาพัฒน์ชุมชนการเคหะคลองจั่น และชุมชนใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ ที่ สสส.ได้เข้าไปให้การสนับสนุน
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลกไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคติดเชื้อเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา แต่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลับกลายเป็นโรคที่รุนแรงในยุคนี้ โดยมีเหตุสำคัญเนื่องจากไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือเคลื่อนไหวน้อย มักอยู่นิ่งๆ กับเก้าอี้ เตียง มากกว่าเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ
"กิจกรรมทางกายไม่ได้หมายความเพียงเฉพาะการออกกำลังกาย หรือกีฬาเท่านั้น แต่หมายถึงการให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ่อยๆ อย่างเพียงพอ เป็นการช่วยป้องกันโรคที่ดี นำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาเมื่อเจ็บป่วยได้" ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สสส.ระบุ
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ พร้อมเพิ่มปัจจัยบวก เช่น กิจกรรมทางกาย ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สุขภาวะ และกลุ่มวิถีชีวิตสุขภาวะสำหรับประชากรทุกกลุ่ม เนื่องจากการขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เป็นเหตุของความเจ็บป่วยและเสียชีวิตรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2563-2564 สสส.ตั้งเป้าจะเพิ่มกิจกรรมทางกายคนไทยอายุ 11 ขวบขึ้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และลดภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2562 และมุ่งส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะ หรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย สนับสนุนและรณรงค์ให้กิจกรรมทางกายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นว่า สสส.ใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยอีกเกือบ 2 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมนานาชาติกิจกรรมทางกาย ครั้งที่ 6 (The 6th ISPAH Congress : International Congress on Physical Activity and health – ICPAH) ภายใต้แนวคิด "Active Living for ALL" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกว่าด้วยการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย ก็เชื่อว่าสังคมจะตื่นตัวและให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางกายมาก ขึ้น
ขณะที่ข้อมูลโดย ดร.เกษม นครเขตต์ ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือในระดับสากล International Collaboration for Physical Activity – ICPA แผนงานส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขยายความถึงกิจกรรมทางกาย คือ การเคลื่อนไหวของร่างกายโดยกล้ามเนื้อและกระดูกที่ทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งครอบคลุมการประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวันและในสายอาชีพ การทำกิจกรรมในเวลาว่าง ซึ่งรวมถึงการออกกำลังกาย โดยมีข้อเสนอเพื่อเป็นทางเลือกของการทำกิจกรรมทางกาย ดังนี้
ประการแรกคือ การดำเนินชีวิตประจำวันที่กระฉับกระเฉง (Active living) เป็นกิจกรรมที่ใช้แรงกายน้อยที่สุด ออกแรงเบาๆ อาจจะต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ได้ เช่น การเดิน การลุก-นั่ง
ประการที่สอง กิจกรรมเพื่อสุขภาพ (Activity for health) คือใช้แรงปานกลาง (moderate-intensity aerobic physical activities) โดยต้องออกแรงต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที เช่น การเดิน-วิ่งอย่างน้อย 30 นาที การขี่จักรยาน การเต้นรำ
ประการที่สาม การออกกำลังกายเพื่อสร้างสมรรถภาพทางกาย (Exercise for fitness) เป็นกิจกรรมระดับปานกลางถึงหนัก (Moderate to vigorous-intensity physical activities) โดยทำกิจกรรมอย่างน้อยครั้งละ 20 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น การยกน้ำหนัก การวิ่ง
ประการสุดท้าย การฝึกเพื่อเป็นนักกีฬา (Training for sports) คือกิจกรรมการใช้แรงระดับหนักมาก (Vigorous-intensity activities) โดยทำการฝึกทุกวันใน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำสำหรับช่วงอายุต่างๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน (อายุ 5-17 ปี) วัยนี้ควรมีกิจกรรมทางกายที่ออกแรงระดับปานกลางถึงหนักทุกวันเป็นประจำอย่างน้อย 60 นาที/ครั้ง ในประเภทแอโรบิก และควรมีกิจกรรมที่ออกแรงอย่าง หนัก ทำควบคู่ไปพร้อมกันอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัป ดาห์
ขณะที่ผู้ใหญ่ (อายุ 18-64 ปี) ควรมีกิจกรรมทางกายที่ออกแรงระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 75 นาที/สัปดาห์ ของกิจกรรมที่ออกแรงอย่างหนัก หรืออาจจะใช้วิธีการผสมผสานทั้งกิจกรรมออกแรงปานกลางและหนักในเวลาเท่าๆ กันได้ โดยควรมีกิจกรรมในลักษณะแอโรบิกร่วมด้วยอย่างน้อยครั้ง
ละ 10 นาที และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ ควรเพิ่มระดับการทำกิจกรรมในระดับปานกลาง 300 นาที/สัปดาห์ หรือ 150 นาที/ สัปดาห์ ของการออกแรงอย่างหนัก สำหรับกิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การยกน้ำหนัก ควรจะทำ 2-3 วันต่อสัปดาห์ ก็เพียงพอ
ผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) สามารถมีกิจกรรมทางกายเหมือนกับวัยผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 18-64 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ควรมีกิจกรรมเพิ่มความสมดุลของร่างกาย เช่น ฝึกการเดินทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม 2-3 วันต่อสัปดาห์ กิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ควรทำ 2-3 วันต่อสัปดาห์ ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถทำตามข้อแนะนำดังกล่าวได้นั้น ควรจะทำกิจกรรมทางกายตามศักยภาพและเงื่อนไขของร่างกายเท่าที่จะเอื้ออำนวย
แค่เริ่มต้นขยับร่างกายวันละนิด ถือว่าได้ทำกิจกรรมทางกาย ง่ายๆ แค่นี้ทุกคนก็มีสุขภาพที่ดีแล้ว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต