ตั้งเป้าจ้างคนพิการเพิ่ม สู่ธุรกิจสร้างสรรค์สังคม
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ถึงแม้ตัวเลขอัตราคนพิการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วง 5 ปีย้อนหลังเพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่คนพิการอีกจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้ทำงานจริงๆ ในปีนี้ ก.แรงงานตั้งเป้าจ้างงานเพิ่มอีกหมื่นคน หลังผนึก 6 ผู้นำภาคเอกชนร่วมประกาศเจตนารมณ์ "พลังคนพิการ : หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม" พร้อมชูการขับเคลื่อนเชิงสัญลักษณ์ Welcome Disability Mark หรือ Well-D Mark ซึ่งถือว่าเป็นประเทศนำร่องโปรโมต
ปรากฏการณ์แรงงานคนพิการของประเทศไทยในระยะ 5 ปี (ปี 2554-2558 ดูตารางประกอบ) จะเห็นว่า มีอัตราคนพิการที่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากขึ้นตามมาตรา 33 และ 35 (พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550) ที่กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงาน 100 คนต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน หรือ อัตรา 100 : 1 ตามมาตรา 33 หรือจ้างงานตามมาตรา 35 โดยการให้สัมปทานโดยส่งเข้ากองทุน
ถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะสามารถผลักดันคนพิการให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้จริง แต่ก็ยังนับว่ามีคนพิการอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้เข้าทำงาน และใช่ว่าคนพิการทุกคนที่มีชื่อเข้าทำงานนี้จะได้รับการจ้างเข้าทำงานจริง
ทั้งนี้ ยังมีสถานประกอบการหรือแม้แต่ NGOs บางแห่งมองเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย จึงหาคนพิการ นำชื่อ ทำหลักฐานมายืนยันตัว แล้วมอบเงินก้อนหนึ่งให้คนพิการ (หรืออาจจะไม่ให้เลย) กลายเป็นว่าได้สองต่อ ไม่ต้องเสียเงินเข้ากองทุน ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ไม่ต้องรับคนพิการเข้าทำงาน ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เมื่อคนพิการไม่มีงานทำ ไม่ได้การพัฒนาอบรม ความรู้ความสามารถที่เพียงพอ ไม่ใช่การสร้างความยั่งยืนหรือคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนพิการ
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อเดือนกันยายน 2559 พบว่ามีจำนวนคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 1,657,438 คน ในจำนวนนี้มีคนพิการอยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-60 ปี) ได้ทำงานเพียง 196,021 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.8
ส่วนสิ่งที่ขาดหายไป หรือเกิดช่องว่าในกฎหมายชุดนี้ ก็คือ
1. Communication หรือ การสื่อสาร ในที่นี้คือการสื่อสารให้คนพิการที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้ได้ ทราบถึงข่าวสาร นโยบาย สิทธิประโยชน์ของตนเอง การสื่อสารอีกทางคือ การสื่อสารระหว่างสถานประกอบการและคนพิการที่อยากมีงานทำ สถานประกอบการส่วนมากไม่รู้ว่าต้องหาคนพิการจากไหน เมื่อเปิดรับสมัครก็ไม่มีคนพิการเข้ามาสมัคร เช่นเดียวกับด้านคนพิการเองก็ไม่สามารถว่าสถานประกอบการใดที่ต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน
2. Competency of PWDs ความรู้และความสามารถของคนพิการ ความสามารถของคนพิการที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของการจ้างงานของสถานประกอบการ ซึ่งในประเทศไทยมีคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษากว่าหกแสนคน (ร้อยละของคนพิการ 37.55) รวมถึงทักษะการเข้าสังคม การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานได้
3. Tracking System หรือระบบติดตามการทำงานหลังการเข้าทำงาน นับว่าสำคัญอีกปัญหาหนึ่งซึ่งจะช่วยลดอัตราการลาออกของคนพิการ เกิดหลังจากที่สถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงาน แล้วคนพิการไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่มอบหมาย ไม่สามารถทำงานได้จนครบสัญญา หรือแม้กระทั่งสถานประกอบการไม่ได้นำคนพิการเข้ามาทำงานจริงๆ การติดตาม ก่อน ระหว่าง และหลังการทำงานจริงของคนพิการ
กม.จ้างคนพิการ ผนึก 6 ภาคเอกชน ชูพลังคนพิการ
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงแรงงานร่วมจับมือ 6 ผู้นำภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สามาคมโรงแรมไทย สมาคมสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และ Workability Thailand (สมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทย) ร่วมประกาศเจตนารมณ์ หลักการ "พลังคนพิการ : หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม" (Declaration of Welcome Disability)
เรียกว่าสนับสนุนในหลักการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของคนพิการและร่วมสร้างความตระหนักต่อพนักงาน คู่ค้า ลูกค้าและชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนเชิงสัญลักษณ์ Welcome Disability Mark หรือ Well-D Mark ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศนำร่องโปรโมต Well-D Mark ในกลุ่มประเทศสมาชิก Workability Asia โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมสนับสนุนและขยายผล
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการ Welcome Disability Mark ในสถานประกอบการยังมุ่งขยายสู่การสร้างความตระหนักสู่ลูกค้าและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมผ่านตราสัญลักษณ์ Welcome Disability Mark หรือ Well-D นับเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดีและร่วมรณรงค์สังคมไทยให้ร่วมเป็นหนึ่งกำลังในการเปลี่ยนแปลง "คนพิการจากภาระให้เป็นพลัง" และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีองค์กรภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อสังคมผ่านตราสัญลักษณ์ Well-D มากกว่า 100 องค์กร
ในการประกาศหลักการ "พลังคนพิการ : หุ้นส่วนธุรกิจสร้างสรรค์สังคม" นั้นมีแนวทางส่งเสริม 4 ประการสำคัญ คือ
1. การส่งเสริมวัฒนธรรมสังคมเพื่อคนทั้งมวล (Cultivating Inclusion)
2. การส่งเสริมนโยบายการเข้าถึงของคนพิการ (Promoting Accessibility Policy)
3. การส่งเสริมการสร้างพันธมิตร (Creating Inclusive Partnership)
4. การส่งเสริมการสร้างงานคนิการ (Empowering Competitive Employment & Social Entrepreneurship)
"ความมุ่งหมายที่จะสร้างความตระหนักต่อสังคม ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วยการสร้างการเข้าถึงโอกาสทางสังคมในมิติต่างๆ ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการมีงานทำของคนพิการ ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล "คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ" ที่หมายรวมถึงคนพิการและผู้ด้อยโอกาสด้วย โดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเอกชนในการสนับสนุนโอกาสการมีงานทำ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคนพิการ และการจัดสถานประกอบการให้พร้อมสำหรับคนพิการ ตลอดจนการส่งเสริมการซื้อขายสินค้าและบริการ เพื่อสร้างงานและรายได้ให้แก่กลุ่มคนพิการอีกทางหนึ่ง" ปลัดกระทรวงแรงงานย้ำ
ด้าน สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ กรรมการผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม "ไนส์คอร์ป" องค์กรที่จัดตั้ง Buy Social Thailand เพื่อส่งเสริมกลไกการตลาดของกิจการเพื่อสังคม หนึ่งในห้าองค์กรสำคัญที่จะขับเคลื่อนคนพิการเข้าสู่ตลาดแรงงานบอกว่า "สถานการณ์ของกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยกำลังยู่ในช่วงพัฒนากระแสการรับรู้ถูกส่งผ่านจากภาคเอกชน โดยกิจการเพื่อสังคมของประเทศไทยคล้ายกับสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากการผลักดันของภาคเอกชน แต่ต่างจากประเทศอังกฤษที่เรื่องนี้ถูกขับเคลื่อนโดยภาครัฐที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
"ตอนนี้เราพยายามทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้ชัดเจน สนับสนุนให้เกิด ecosystem โอกาสในการผลักดันเยอะมาก เพราะทุกภาคส่วนให้ความสนใจ ถ้าเขาสามารถสร้างการรับรู้ของสังคมได้ก็จะดีมาก เราจะใช้กลไกที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือภาคการศึกษาก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันได้ เพราะสามารถเชื่อมโยงกับ CSR Positioning ช่องว่างตรงนี้สามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจได้"
Buy Social Thailand เริ่มต้นโครงการในปี 2559 ด้วยการนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสที่เคยเข้าร่วมกับ Workability Thailand อยู่ก่อนแล้ว เช่น ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมธุรกิจและความสามารถในการมีงานทำของคนพิการ "The CUBE" และศูนย์นวัตกรรมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา "ABLE" เป็นต้น มาจัดจำหน่ายผ่านเว็บไซต์และเพจ Buy Social Thailand ซึ่งอนาคตกำลังประสานงานไปยังมูลนิธิผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ เพื่อมาร่วมเครือข่ายเดียวกันด้วย
สินค้าที่จำหน่ายผ่าน Buy Social Thailand มีหลากหลายประเภท ทั้งของกินของใช้ เช่น แยมผลไม้ คุกกี้ เสื้อ หมอน สบู่ ฯลฯ ทุกชิ้นมาจากฝีมือของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งภายในหนึ่งศูนย์จะมีกลุ่มผู้พิการช่วยกันทำตามความถนัดของตนเอง แล้วบายโซเชียลไทยแลนด์จะเข้าไปช่วยดูแลการเพิ่มมูลค่าตัวสินค้า แพ็กเกจจิ้งและการตลาด เพื่อพัฒนาให้เป็นสินค้าเกรดพรีเมียมสร้างายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศไทย
5 ภาคส่วนหลัก ผลักดันสร้างงานคนพิการ
1. โครงการศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมธุรกิจและความสามารถในการมีงานทำของคนพิการ หรือ THE CUBE (Incubation center on business innovation and inclusive employment for PWDs) หนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นจาก Workability Thailand ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชสุดา มหิดล เริ่มต้นในปี 2559 เนื่องจากมองเห็นปัญหาในการติดต่อ เชื่อมโยงระหว่างนายจ้างและคนพิการ รวมทั้งการที่คนพิการไม่มีความรู้ความสามารถ ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่สถานประกอบการหรือทำงานได้จริง โครงการ THE CUBE จึงได้จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ขึ้นเพื่อเป็นตัวกลาง Matching เชื่อมโยงระหว่างคนพิการและสถานประกอบการ
ปัจจุบันโครงการ THE CUBE ได้เข้าสู่ปีที่สอง เบื้องต้นมีจำนวนคนพิการผู้เข้าร่วมรอบแรกจำนวน 61 คน และคาดว่าเมื่อเปิดรับสมัครรอบที่สองในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 จะมีคนพิการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 150 คน
2. มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม Social Innovation Foundation ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ที่มีพันธกิจหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการพัฒนาสังคมในปี 2557 ได้มีโครงการนำร่องจ้างงานคนพิการในชุมชน เพื่อเป็นแนวทางการจ้างงานที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนพิการและให้ทางบริษัทได้จ้างคนพิการที่มีศักยภาพจำนวน 229 คน ด้วยความร่วมมือของบริษัท 20 บริษัท เช่น บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัทเบทาโกร จำกัด กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ เป็นต้น
ผลจากการดำเนินโครงการพบว่า สามารถจัดหางานที่เหมาะสมให้แก่คนพิการได้มากขึ้น คนพิการที่เข้าร่วมโครงการเองนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรี
3. สภากาชาดไทย (โดยการสนับสนุนหลังจากสมาคมธนาคารไทย) ในปี 2560 มีการเปิดรับคนพิการเข้าปฏิบัติงานประจำเหล่ากาชาดจังหวัด ในลักษณะการจ้างเหมาสัญญาเป็นรายปี เริ่มต้นตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2560 โดยมีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน โดยปฏิบัติงานเกี่ยวกับสำนักงาน งานธุรกิจ งานประชาสัมพันธ์ งานเอกสารการประชุม เอกสารการเงิน งบประมาณพัสดุติดตามแผนงานโครงการของเหล่ากาชาดจังหวัดและกาชาดอำเภอ เป็นจำนวนอัตราการจ้างงานคนพิการ 655 อัตรา
4. Buy Social Thailand จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมกลไกการตลาดของกิจการเพื่อสังคมภายใต้การดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคม ไนส์คอร์ป เพื่อเชื่อมโยงสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชนสู่การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสังคม (Procurement for Social Impact) ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตและขยายการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม ควบคู่กับการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมอย่างยั่งยืน
สิ่งที่ Buy Social ทำคือการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากกลุ่มคนทำงานด้อยโอกาส จัดตั้งเป็นองค์กรที่มีมาตรฐานและโปร่งใส ทำการตลาดเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้จริงในราคาที่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค กำไรที่ได้นำกลับไปสู่การจ้างงานผู้ด้อยโอกาสให้ได้เข้าสู่กระบวนการทำงานต่อไป
5. ศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมอาชีพและพัฒนาทักษะการทำงานของผู้พิการให้สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้โดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือคนพิการด้านร่างกายและทางสายตา โดยการฝึกอบรมสร้างอาชีพคอลเซ็นเตอร์ให้แก่คนพิการเหล่านี้ โดยคนพิการสามารถประกอบอาชีพคอลเซ็นเตอร์ที่บ้านได้ โดยผลงานที่มาขององค์กรได้เป็น outsource ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ คอนแทค เซ็นเตอร์ บริษัทบางจาก ปิโตรเคมี จำกัด ซึ่งจากผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้คนพิการสามารถมีรายได้เป็นของตนเอง ลดการพึ่งพาครอบครัว