ตั้งนักจิตวิทยาคลินิก แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็ก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ตั้งนักจิตวิทยาคลินิก แก้ปัญหาพฤติกรรมเด็ก thaihealth


แฟ้มภาพ


สพฐ.ผุดไอเดียให้เขตพื้นที่ฯ มี "นักจิตวิทยาคลินิก" ประจำ 1 คนต่อ 1 เขต เบื้องต้นนำร่องใน 20 เขตพื้นที่ที่มีศักยภาพ ผอ.ศูนย์ ฉก.ชน.


ระบุเคยทำโครงการร่วม สสส.ดึงนักวิจัยร่วมแก้ไขปัญหาเด็กพบเกิดผลดี เด็กกล้าพูดคุย แจงต้องใช้นักจิตวิทยาคลินิก เพราะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในแต่ละเคส เริ่มงานทันทีเปิดเทอม 1 ปี 59 และประเมินผลสิ้นเทอม


นายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน (ฉก.ชน.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ฉก.ชน.มีบทบาทในการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน รวมถึงทำหน้าที่ประสานงานผู้ปกครอง รวมถึงเขตพื้นที่การศึกษาในการรวบรวมข้อมูลปัญหาของเด็กนักเรียนอย่างเป็นระบบซึ่งจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาจะพบปัญหาหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน อาทิ นักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ปัญหายาเสพติด ตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียน การถูกคุกคามทั้งทางร่างกายและจิตใจ การไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการศึกษา โดย ฉก.ชน.ได้พัฒนาและสร้างกลไกการทำงานเพื่อให้การคุ้มครองและช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระดับพื้นที่จะมีศูนย์ ฉก.ชน.กระจายอยู่ 226 ศูนย์


อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กได้ง่ายจำเป็นที่ต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ โดยเฉพาะนักจิตวิทยา ซึ่งจากที่เคยทำโครงการศึกษาวิจัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้มีนักจิตวิทยาเข้ามาร่วมทำงานช่วยเหลือนักเรียน เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีองค์ความรู้ มีเทคนิคในการเข้าถึงหรือทำให้เด็กกล้าเปิดใจพูดคุยได้มากกว่าพูดคุยกับคนอื่นๆ ดังนั้น ฉก.ชน.จึงได้เสนอ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ขอให้ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีนักจิตวิทยาคลินิก ประจำ 1 คน ซึ่งเลขาธิการ กพฐ.ได้อนุมัติให้ดำเนินการได้


"ในระยะแรกจะนำร่องใน 20 เขตพื้นที่ฯ ก่อนโดยคัดเขตพื้นที่ฯ ที่ได้รับรางวัลว่ามีการจัดระบบการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนดีก่อน เพราะมีศักยภาพและความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยทั้ง 20 เขตพื้นที่ฯ จะต้องไปดำเนินการสรรหานักจิตวิทยา โดยต้องเป็นจิตวิทยาคลินิก เท่านั้นเพราะมีความรู้ความเข้าใจในเคสต่างๆ เป็นพิเศษ เมื่อแต่ละเขตพื้นที่ฯได้นักจิตวิทยาคลินิกเรียบร้อยก็จะลงไปทำงานเก็บข้อมูลปัญหาต่างๆ ยังโรงเรียนในพื้นที่ นำมารวบรวมวิเคราะห์เพื่อวางแนวทางแก้ไขให้เป็นระบบ โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2559 และประเมินผลการทำงาน 6 เดือนคือสิ้นสุดภาคเรียนที่ 1/2559" นายธีร์กล่าวและว่า ทั้งนี้ ฉก.ชน.ได้เตรียมงบประมาณไว้ 1.8 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนการทำงานด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code