ตั้งด่านเป่าตรวจเหล้าชุมชน

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์


ตั้งด่านเป่าตรวจเหล้าชุมชน thaihealth


เลขาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้หนทางแก้ปัญหาอุบัติเหตุสูง ต้องเอาจริงเอาจังการบังคับใช้ กม. รอง ผบก.ทล.คาดช่วงเทศกาลปีใหม่มีคนเดินทางออกจาก กทม. 4 ล้านคน มีรถ 5 ล้านคัน มากกว่าปีก่อน 20% เผยแผนสกัดเมาแล้วขับ จะตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ระดับชุมชน เผยประเด็นเจาะเลือดผู้ประสบอุบัติเหตุทุกรายเพื่อหาแอลกอฮอล์ ประชุมในวันที่ 27 ธ.ค.นี้


ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ในการแถลงข่าว “ลดเร็ว ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัยปีใหม่ 2561” นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 22,356 ราย มี 6,000 ราย ต้องกลายเป็นผู้พิการ มีคนเสียชีวิต 60 คน/วัน และจากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เทศกาลปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้เสียชีวิต 478 ราย เกิดอุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง บาดเจ็บ 4,128 คน สาเหตุอันดับ 1 คือ เมาสุรา ร้อยละ 36.59 (ปี 2559 ร้อยละ 34.12) รองลงมาคือ การขับรถเร็ว ร้อยละ 31.31 (ปี 2559 ร้อยละ 24.53) นอกจากนี้ จากข้อมูลมูลนิธิไทยโรดส์ เมื่อปี 2558 ได้สุ่มสำรวจทัศนคติผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลทั่วประเทศ ต่อปัญหาการจัดการความเร็ว จำนวน 2,981 ราย พบว่า ร้อยละ 83 เห็นด้วยกับการตรวจจับความเร็ว โดยการถ่ายภาพและส่งหลักฐานพร้อมใบสั่งไปถึงที่บ้าน ร้อยละ 50 เห็นว่าโทษปรับของการขับเร็วยังไม่ทำให้คนเกรงกลัวและไม่กล้าขับรถเร็ว นอกจากนี้ ร้อยละ 87 เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษปรับการขับเร็วในลักษณะขั้นบันได ตามระดับความรุนแรงของการฝ่าฝืนกฎหมาย


"ทั้งนี้ ในการดำเนินการเพื่อให้สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุลงได้ นอกจากจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังต้องมีการสร้างความตระหนักเรื่องดื่มไม่ขับจะทำให้สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ และขอให้สังคมให้การสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่ากดดันการทำงานของตำรวจทั้งทางวาจาหรือแม้กระทั่งการโพสต์ในสื่อโซเชียล"


นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า รัฐควรจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นนอกจากช่วงเทศกาลแล้ว เรื่องการรณรงค์ลดอุบัติเหตุควรมีการทำให้เป็นปกติในการใช้ชีวิตประจำวัน และที่สำคัญประชาชนขาดจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน และรัฐต้องมีการเอาจริงเอาจังในเรื่องการเอาผิดทางกฎหมาย


พ.ต.อ.ม.ล.สันธิกร วรวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ประมาณ 4 ล้านคน มากกว่าปีก่อน 20% โดยรถประมาณ 5 ล้านคัน ส่วนนโยบายกองบังคับการตำรวจทางหลวง ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ได้แก่ การอำนวยการจราจรในเส้นทาง 20,000 กิโลเมตร และมีการบริการประชาชน ณ จุดบริการ 198 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ จะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างตำรวจทางหลวงและตำรวจภูธร ซึ่งในเรื่องการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ที่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ก็จะมีการลงไปตรวจในระดับชุมชน โดยหากพบว่าเมาแล้วขับ แต่ยังไม่ได้ก่ออุบัติเหตุ ก็จะไม่มีการยึดรถ แต่จะมีการกักตัวไว้จนกว่าจะหายเมา และจะกลับได้ก็ต่อเมื่อมีคนภายนอกหรือญาติพี่น้องมารับตัวกลับ ทั้งนี้ ในเรื่องของเครื่องเป่าแอลกอฮอล์นั้น แม้ว่าจะมีจำนวนไม่เพียงพอ แต่หากได้รับความร่วมมือจากผู้นำแต่ละชุมชน ดูแลควบคุมดูแทนก็จะสามารถลดปัญหาได้ และในเรื่องการเจาะเลือดในอุบัติเหตุทุกรายนั้น จะมีการประชุมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในวันที่ 27 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

Shares:
QR Code :
QR Code