ตั้งคำถาม-ค้นหาคำตอบ การศึกษาไทย
ถึงเวลาลุกขึ้นมาร่วม “ตั้งคำถาม-ค้นหาคำตอบ” การศึกษาไทยยุค “กระจายอำนาจ” ร่วมเฟ้นหา “เจ้าภาพการศึกษาหน้าใหม่” เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ในพื้นที่ฉบับ “ตัดเกือกพอดีตีน”
ผลสำรวจล่าสุดชี้ “เด็กเรียนหนัก ผลสัมฤทธิ์ต่ำชนิดตกยกชั้น” กลายเป็นคำถามที่คาใจพ่อแม่ไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคู่ทั่วประเทศ
เพื่อร่วมกันค้นหาตอบให้กับการศึกษาไทย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงร่วมสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดผลิตรายการสารคดีชุด “กขคง…ข้อนี้ไม่มีคำตอบ” (หากคุณไม่เริ่มตั้งคำถาม) เพื่อชำแหละระบบการศึกษาไทย อาทิ ทุกข์ตั้งใจอยู่ในท้อง ปัญหาการตกยกชั้น การจัดการศึกษาแบบร้องเท้าเบอร์เดียว ปัญหาเรื่องครู และค่านิยมเรื่องปริญญา กระทั่งถึงการจัดการศึกษาในพื้นที่ เพื่อร่วมกันเฟ้นหา “เจ้าภาพการศึกษาหน้าใหม่” เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ในพื้นที่ เป็นต้น
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค.ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคอนเซ็ปท์หลักกล่าวว่า ปัญหาสังคมและปัญหาเด็กด้อยโอกาสทุกวันนี้ หนีไม่พ้นสาเหตุของระบบการศึกษาที่สะสมมานานด้วยระบบรวมศูนย์ ทุกวันนี้ครอบครัวไทยต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อกวดวิชา เฉลี่ย 1,000-2,000 บาทต่อเดือน หรือพ่อแม่ไทยต้องควักกระเป๋ากับการเรียนพิเศษถึงแสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ความเครียดตกอยู่กับลูกที่ต้องแข่งกันสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ทำไมการศึกษาจึงบังคับให้เด็กเป็นแสนต้องอยู่ในกติกาแบบเดียวกัน และหากเด็กคนไหนที่ไปไม่ถึง ก็ถูกแพ้คัดออก แล้วพวกเราจะเอาเขาไว้ที่ไหน
“ผมจึงอยากให้ทุกคนมองตัวเองในฐานะประชาชนที่ตกเป็นเหยี่อของระบบการศึกษาที่สะสมมานาน และถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน ซึ่งการที่เราจะชี้นิ้วไปที่ครู ที่โรงเรียน หรือที่ส่วนกลางในการแก้ปัญหาหรือไม่นั้น มีสุภาษิตจากแอฟริกันที่กล่าวไว้ว่า “ต้องใช้ทั้งชุมชนในการจะฟื้นเด็กสักคนให้ดี” นั้นคือความร่วมมือของทุกคน ทั้งพ่อแม่ ครู ท้องถิ่น ตอนนี้เราต้องการความกล้าร่วมกัน เพื่อลุกขึ้นมาประกาศอิสรภาพในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่ตอบชีวิตจริง รายการนี้จึงเป็นรายการที่ปลุกพลังความร่วมมือ เพื่อสร้างความหวังให้การศึกษาไทยดีขึ้นจากมือของเราทุกคน”
ด้านวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวถึงระบบการศึกษาไทยที่ปลูกฝังให้เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่ ทำให้คนไทยไม่คิดตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว กลายเป็นคนไทยไม่ทันจะฟังก็เชื่อแล้ว สังคมถึงมีปัญหาเช่นทุกวันนี้ ในฐานะ TPBS มองว่า เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการสร้างรากฐานและการศึกษาเวลานี้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอีกต่อไป แต่สังคมกลับติดกรอบว่า ต้องอยู่ในระบบ รายการนี้จึงมีส่วนช่วยตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวเหล่านั้น
สำหรับแขกพิเศษที่มาร่วมกระเทาะระบบการศึกษาไทยก็มีตั้งแต่อาจารย์มหาวิทยาลัย ครูตัวเล็กๆในระบบที่ห่างไกล เด็กในระบบที่ถูกกรอบบีบรัดจนไม่มองหาความสนุกในการเรียนไม่พบ แก๊งค์เด็กแว้นกลับใจที่อยากเรียนหนังสือ พ่อแม่ที่หาเช้ากินค่ำ กระทั่งครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ก็ต่างมี “ปัญหาคาใจ” ที่มาร่วมสะท้อนกันในวงดังนี้
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉายภาพระบบการผลิตครูที่ล้มเหลว เนื่องจากเป็นระบบเปิดเสรี ใครใคร่รับก็รับ ทำให้มหาวิทยาลัยต่างผลิตครูออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ขาดคุณภาพและจิตวิญญาณกลายเป็นการหารายได้เชิงพาณิชย์ และลืมไปว่า ครู 1 คนอยู่กับเด็กไปอีก 30 ปี ซึ่งในอดีตครูถือเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีเกียรติและได้รับการยอมรับ แต่ปัจจุบันอาชีพครูตกต่ำ จนเด็กบอกได้ว่า ครูทำงานเพื่อเงิน และวิทยาฐานะ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนระบบครูให้เป็นระบบปิด เพื่อให้ครูมีจรรยาบรรณ จึงขอถามไปยังสถาบันการผลิตครูทั่วประเทศว่า ท่านจะทำธุรกิจกับการผลิตครูเช่นนี้ต่อไปจริงหรือ
ไม่ต่างกับ ครูมาด-สามารถ สุทะ ครูสอนดีจังหวัดลำพูน ครูต้นเรื่อง “คิดถึงวิทยา” จากโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาห้องเรียนเรือนแพ ที่สะท้อนถึงนโยบายที่เปลี่ยนตลอดเวลา “ผมเป็นครูเป็นผู้รับนโยบายมาปฏิบัติทุกครั้ง แต่เมื่อเปลี่ยนขั้ว ครูก็ต้องเปลี่ยนวิธีปฏิบัติไปเรื่อยๆ ต้องปรับการเรียนการสอน และการประเมินใหม่ทั้งหมด ครูจึงไม่มีเวลา ทิ้งห้องเรียน ทิ้งนักเรียน ผลที่ออกมา คือ การศึกษาตกต่ำ เด็กอ่านไม่ออกจึงอยากรู้ว่า เป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริงคืออะไร จะเอาอย่างไรกันแน่”
เช่นเดียวกับหัวอกพ่อของน้องลาติบ-ด.ช.ธนพล อินกกผี้ง ที่สะท้อนความเป็นจริงของชีวิตกับโอกาสทางการศึกษาที่เข้าถึงยาก สำหรับการ “เรียนฟรี 15 ปี” ที่ทำให้ครอบครัวหาเช้ากินค่ำอย่างเขาสบายใจทุกครั้งที่ลูกปิดเทอม และหนักใจทุกครั้งที่โรงเรียนเปิดเพราะไม่รู้จะหาเงินที่ไหน “เรียนฟรี 15 ปีสำหรับเขา คำตอบกับไปอยู่ที่โรงรับจำนำ”
ขณะที่แม่ตุ้ย-ปิยนุช โชติกเสถียร ตัวแทนผู้ปกครอง ได้แชร์ความทุกข์ของพ่อแม่เมื่อโรงเรียนมีคุณภาพต่างกัน และทุกข์เป็นสองเท่าเมื่อมีลูกเป็นเด็กพิเศษ แล้วต้องหาโรงเรียนให้ลูกมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหลายโรงเรียนจะปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีครูจบการศึกษาพิเศษ หรือบางโรงเรียนรับได้ในจำนวนจำกัด จนนึกน้อยใจว่า ทำไมลูกต้องเป็นเด็กขาดโอกาสในการเรียน ความทุกข์ที่อยู่ในใจทำให้ต้องเสียสละ เพราะลาออกจากความเป็นแม่ไม่ได้ จึงต้องลาออกจากงานเพื่อหาโรงเรียนให้ลูก เชื่อว่ามีแม่หลายคนที่คิดเช่นกัน และมีผู้ปกครองหลายคนที่รู้สึกถอดใจ บางคนก็ต้องปล่อยให้ลูกหลุดออกจากระบบการศึกษา แม้ว่าลูกจะไม่จบการศึกษาภาคบังคับ อยากบอกว่า เด็กพิเศษก็เป็นเด็กคนหนึ่ง ขอให้เขาเพียงได้รับโอกาสเท่านั้น
สุดท้ายกับฝั่งนักเรียนทั้งนอกและในระบบ ปอนด์-อดิสรณ์ ผาไชยภูมิ ตัวแทนเด็กแก๊ง จ.ขอนแก่นก็เล่าว่า แม้วันหนึ่งเขาจะเคยก้าวพลาดออกจากระบบไป แต่ก็อยากกลับมาเรียนอีกครั้ง แต่กลับโดนสังคมมองว่า เป็นคนเลว จึงอยากให้สังคมเปิดใจยอมรับ เปิดโอกาสให้เราได้กลับมาเรียน ขณะที่ อาร์ต-ธิดารัตน์ กุลแก้ว เด็กในระบบก็ยังมีคำถามกับเส้นทางชีวิตการเรียนที่มุ่งสู่การสอบในรั้วมหาวิทยาลัย และการเรียนเพื่อติวสอบ ว่าเป็นเหมือน “การจัดการศึกษาแบบร้องเท้าเบอร์เดียว” คือ ถูกบังคับให้เรียนในกรอบและระบบที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า ใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่ หรือถ้าเดินออกนอกเส้นทางไปแล้ว ก็ต้องหลุดออกจากระบบไป “การศึกษาไทยจึงเป็นแค่กรอบที่ปิดกั้นเด็กไว้ว่า คุณต้องเดินมาอย่างนี้ ถ้าคุณออกนอกกรอบนี้ไป มันก็อาจจะหมายถึงว่า คุณก็อาจจะออกนอกเส้นทางชีวิตคุณเหมือนกัน”
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)