ตัวการร้ายที่ทำให้ร่างกายเสื่อมไว

ที่มา : SOOK Magazine No.72


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ตัวการร้ายที่ทำให้ร่างกายเสื่อมไว thaihealth


โดยปกติเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย มักจะเริ่มเสื่อมในช่วงอายุ 30 ปี โดยอาการเสื่อมจะค่อย ๆ เกิดขึ้น ส่วนในวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงาน อาการเสื่อมมักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ส่งผลให้เกิดความเสื่อม


ตัวการร้ายที่ทำให้ร่างกายเสื่อมไว


1. บุหรี่ แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ 1 มวน เท่ากับทำลายชีวิต 11 นาที ถ้าสูบไป 1 ซอง ก็เท่ากับ 3 ชั่วโมง 40 นาที บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง  มะเร็งปอดโดยตรง และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ตับต้องทำงานมากกว่าปกติ เพราะต้องขับของเสียหรือสารพิษ


2. น้ำตาลและของหวาน หมายถึง อาหารที่ให้แคลอรี แต่ไม่ให้สารอาหาร ได้แก่ ทอฟฟี่ ไอศกรีม น้ำอัดลม ของหวานต่าง ๆ อาหารเหล่านี้ เมื่อให้พลังงานแล้วส่วนที่เหลือจะแปรรูปเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กินแล้วจะรู้สึกอิ่มได้ไม่นาน ทำให้ต้องกินบ่อยขึ้นเสี่ยงกับการเป็นโรคอ้วน


3. อาหารปิ้งย่าง ทอด และอาหารจังก์ฟู้ด เป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ไขมันเหล่านี้มีผลทำให้เส้นเลือดอุดตัน เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และถ้ามีรอยไหม้เกรียม จะมีสารคาร์ซิโนเจน (Carcinogen) หรือสารก่อมะเร็ง เมื่อกินบ่อย ๆ จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้สูงขึ้นด้วย


4. การกินอาหารรสจัด เค็มจัด หรือกินอาหาเสริมในปริมาณมาก เมื่อติดเป็นนิสัย ก่อให้เกิดพิษต่อไต ความดันโลหิตสูงหรือเกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ แม้ไตอาจเสื่อมไป 1 ข้างแล้ว ไตข้างที่เหลือจะทำงานทดแทนได้ แต่ประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลง ทำให้รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไม่ได้ เสี่ยงต่อภาวะไตวาย โรคไตเรื้อรัง ไตเสื่อม แนะนำให้ปรับพฤติกรรมการกิน ลดเผ็ด หวาน มัน เค็ม และไม่อั้นปัสสาวะ ช่วยให้ไตทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ป้องกันการติดเชื้อที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตในอนาคต รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักตัวและความดันโลหิตไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน


5. แสงแดด หากได้รับมากเกินไปก็จะทำลายผิวหนัง สามารถสังเกตได้จากริ้วรอยเหี่ยวย่น ความหมองคล้ำ กระ จุดด่างดำต่าง ๆ หากได้รับรังสียูวีเอและยูวีบีในปริมาณมาก ๆ ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ สามารถ ป้องกันการได้รับแสงแดดมากเกินปกติโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดอย่างครีมกันแดดหรือแว่นตากันแดด


6. การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะที่ร่างกายนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ และ ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ที่นอนน้อยอาจอารมณ์เสียหรือทำงานได้ไม่ดี การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นประจำนั้นทำให้เสี่ยงป่วยและมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน ผู้ที่นอนน้อยมักรู้สึกเหนื่อยและง่วงซึมตลอดวัน สามารถหลับได้ภายใน 5 นาทีเมื่อนอนลงไป หรืออาจประสบภาวะวูบหรือหลับในช่วงเวลาสั้น ๆ (Micro sleep) ทั้งนี้ ภาวะนอนน้อยอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สมรรถภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ จะลดลง เช่น ขับรถ ทำงานต่าง ๆ และการใช้ความคิด ฯลฯ


7. การกินยาเกินขนาด หรือรับสารอาหารที่เป็นพิษ ถ้าตับได้รับสารที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ตับจะถูกทำลาย ทำงานได้ไม่เต็มที่ สุขภาพตับเสื่อม เสี่ยงโรคตับแข็ง มะเร็งตับ ตับอักเสบ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับสารพิษเข้าร่างกายโดยไม่จำเป็น เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ การกินยา อาหารเสริม เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของตับ


8. เดิน ยืน นั่ง ไม่ถูกท่า ส่งผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ ปกติแล้วกระดูกจะเสื่อมได้ตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้แคลเซียมในกระดูกลดน้อยลง ส่งผลให้การเคลื่อนไหวช้าลงกว่าเดิม เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ใช้เวลาพักฟื้นยาวนาน แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตในประจำวันซ้ำ ๆ เดิม ๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดความเสื่อม ได้เร็วขึ้น เช่น นั่งทำงานผิดท่าหลังงอ การก้มเงยอย่างรวดเร็ว การพิมพ์แชทบนโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม การยกของหนักที่ทำให้ปวดหลัง ปวดไหล่ พังผืดเกาะเส้นเอ็น เส้นเอ็นอักเสบ เพื่อป้องกันการเสื่อมควรหมั่นออกกำลังกายที่ไม่ทำร้ายข้อเข่า ควบคุม น้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดื่มนมเสริมแคลเซียม เพื่อช่วยให้กระดูกแข็งแรง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ใช้ท่าทางและอิริยาบถที่ไม่ทำร้ายกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ สลับท่าทางต่าง ๆ เป็นประจำ ไม่นั่งไขว่ห้างหรือ เท้าคางนาน ๆ


รู้อย่างนี้แล้วผู้อ่านท่านใดที่มีพฤติกรรมแบบข้างต้นก็ให้เริ่มปรับตัว และพยายามใส่ใจกับสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อให้ร่ายกาย และสุขภาพที่ดีอยู่กับเราไปนาน ๆ

Shares:
QR Code :
QR Code