ตะโกลาละครสร้างความปรองดอง
สะท้อนสังคมหยุดทะเลาะ
“ผมอยากทำละครสะท้อนให้สังคมเห็นว่า ถ้าคนไทยรักในสิ่งเดียวกัน คนไทยก็ควรจะหยุดทะเลาะกันเสียที” เสียงของนายฮาริส มาศชาย ประธานกลุ่มละครมาหยา จังหวัดกระบี่ และผู้ประสานงานเครือข่ายละครภาคใต้ หนึ่งในเยาวชนที่ทำละครสะท้อนปัญหาสังคม ผ่านโครงการละครสำหรับเยาวชนในปีที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเขาและทีมงานต่างบรรจงสร้างละคร โดยหวังให้คนในสังคมได้ย้อนกลับไปคิดและมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศชาติ
ละครเวทีเรื่องนี้ เป็นการรวมตัวของเยาวชนใต้หลายสิบคน ที่พร้อมใจกันนำเสนอเรื่องราวของตำนานพื้นบ้าน “เขาขนาบน้ำ” พวกเขาได้ดัดแปลงเนื้อหา พร้อมทั้งรังสรรค์ชื่อเรื่องใหม่ว่า “ตะโกลา” จัดแสดงที่ลานปูดำ หน้าเขาขนาบน้ำ จังหวัดกระบี่
เรื่องราวของ “ตะโกลา” เป็นเรื่องของหญิงสาวสวยนางหนึ่ง ซึ่งเธอเป็นที่หมายปองของผู้พบเห็น ทั้งมนุษย์และยักษ์ต่างก็หลงรักเธอ จนเกิดการต่อสู้แย่งชิงนาง ซึ่งดาบของมนุษย์ซึ่งเล็กกว่า กลายเป็นเขากระบี่น้อย และดาบของยักษ์ กลายเป็นเขากระบี่ใหญ่ สัญลักษณ์ของเขาขนาบน้ำในเวลาต่อมา แต่ทั้งนี้แม้มนุษย์และยักษ์จะทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างไร เมื่อทั้งคู่ได้คิดว่าเขาต่างก็รักในตัวหญิงสาวคนเดียวกัน เขาจะมัวทะเลาะกันไปไย ทั้งสองฝ่ายจึงมุ่งที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อหญิงสาวที่ตนเองรัก จนสุดท้ายทั้งคู่จึงหยุดทะเลาะ
“ผมต้องการจะเปรียบเปรยให้เห็นว่า แม้ยักษ์และมนุษย์จะมีความแตกต่างกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่สุดท้ายเพื่อสิ่งที่ทั้งสองรัก ทั้งสองจึงหยุดทะเลาะกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนตลอดจนผู้ใหญ่ที่กำลังทะเลาะกันอยู่ในขณะนี้ ให้พวกเขาหยุดทะเลาะและหันมาปรองดองกันเสียที เพื่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของทุกคน”
กลุ่มละครมาหยาเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่ง แต่ยังมีเยาวชนคนใต้อีกหลายกลุ่มที่ยังมีละครดีๆ อาทิ ละครเด็กอันดามันสร้างสุข (มอแกน) กลุ่มละครบินหลาไฟสตูล กลุ่มละคร ณ ตานี (มอ.ปัตตานี) ที่ร่วมนำเสนอวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนจากถิ่นดินแดนภาคใต้ ซึ่งคงจะต้องติดตามให้กำลังใจกันต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
update : 29-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่