ตะลึง ป.4-มาเฟียเด็ก

          วันที่ 10 ก.ย. ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2553


ตะลึง ป.4-มาเฟียเด็ก

          พ.ญ.ศิริกุล อิศรานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว (กสค.) กล่าวว่า จากการจัดสมัชชาครอบครัวระดับจังหวัด ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ใน 75 จังหวัด และ กทม. โดยการสนับสนุนของ สค. ได้ประมวลข้อมูลกำหนดเป็นประเด็นสถานการณ์ครอบครัวไทยที่น่าเป็นห่วง 5 ประเด็น เพื่อพิจารณาในการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ และเป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมและพัฒนาเด็กในครอบครัวหลังหย่าร้าง 2.การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมรุนแรงของนักเรียนโดยครอบครัว 3.สวัสดิการครอบครัวที่มีเด็กพิการ 4.การเสริมศักยภาพผู้ดูแลเด็กและครอบครัวเพื่อความปลอดภัยของเด็กในชุมชน และ 5.การส่งเสริมสื่อเพื่อสร้างครอบครัวเข้มแข็ง

 

          “ปัญหาครอบครัวหย่าร้างเหมือนมะเร็งที่ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปัญหานักเรียนตีกันเหมือแผลติดเชื้อหรือเหมือนหวัด 2009 การแก้ปัญหาทั้ง 5 ประเด็น ต้องทำให้พ่อแม่มีคุณภาพ ครอบครัวเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ ขณะนี้มีครอบครัวยากลำบากที่พึ่งตัวเองไม่ได้ร้อยละ 20 ที่เราต้องเข้าไปช่วยเหลือ การแก้ปัญหาเด็กต้องไม่ผลักเด็กออกจากระบบ แต่ต้องทำให้เด็กเรียนรู้แยกแยะผิดถูกให้ได้ คนรุ่นนี้เป็นเจเนอเรชั่นแซดเป็น Gen Z เป็นวัยรุ่นใจร้อน วู่วาม ไม่มีทักษะควบคุมอารมณ์ พบเด็กใช้ความรุนแรงตั้งแต่ประถม ก็ข่มขู่รีดเงินเพื่อน ซึ่งต้องปลูกฝังสอนกันใหม่ พ่อแม่ต้องใช้เวลาทุ่มเทกับลูกแต่ละคนอย่างน้อย 10 ปี จึงจะได้คนมีคุณภาพ” ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว กล่าว

 

          ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ นักวิชาการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวถึงการแก้ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงของนักเรียน โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวว่า เด็กอาชีวะตีกันเป็นความรุนแรงของเด็กที่เห็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่มีเด็กใช้ความรุนแรงจำนวนมาก แนวโน้มพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในเด็กมีรูปแบบที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น เด็กที่ใช้ความรุนแรงและทำผิดกฎหมายมีอายุเฉลี่ยน้อยลง ในช่วง 12-18 ปี จากการวิจัยเรื่อง “มาเฟียเด็ก” ใน กทม. ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่านักเรียนในกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18 มีพฤติกรรมมาเฟีย ทั้งการทำร้ายร่างกาย รีดไถเงิน เสพและค้ายา ขายบริการทางเพศ ความรุนแรงของเด็กมี 9 ชนิด พบในทุกระดับ เฉลี่ยเป็นเด็ก ป.4-ม.ต้น ที่พบความรุนแรงบ่อยเดือนละ 2-3 ครั้ง เป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง โดยเด็กซึมซับความรุนแรงจากครอบครัวและสื่อ

 

          “การแก้ปัญหานักเรียนใช้ความรุนแรง เป็นหน้าที่โดยตรงของครอบครัว หลายโรงเรียนมีเครือข่ายครอบครัวเข้มแข็งพยายามแก้ปัญหา แต่บางครั้งผู้บริหารโรงเรียนไม่สนับสนุน ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ 1.กระทรวงศึกษาธิการต้องสั่งผู้บริหารโรงเรียนประถม มัธยม อาชีวะ เพื่อเปิดให้ผู้ปกครองทำงานเต็มที่ มีเกณฑ์ประเมินผู้บริหาร หากแก้ปัญหาไม่ได้จะมีผลต่อการจัดสรรงบประจำปีของโรงเรียน 2.จัดระบบกลไกในการดึงผู้ปกครองของเด็กกลุ่มเสี่ยงมาร่วมแก้ปัญหา กึ่งบังคับให้มารับผิดชอบการกระทำของเด็ก จากการสำรวจพบว่าญี่ปุ่นมีปัญหาเด็กใช้ความรุนแรงมากเป็นอับดับ 1 ของโลก ส่วนไทยเป็นอันดับ 2 ญี่ปุ่นตอนนี้แก้ปัญหาโดยใช้ครอบครัวบัดดี้ โดยเด็กทำผิด นอกจากแจ้งผู้ปกครองเด็กแล้ว จะเชิญผู้ปกครองเด็กที่เป็นบัดดี้กันมาด้วย ซึ่งคนญี่ปุ่นจะเกรงใจไม่อยากให้เพื่อนเดือดร้อนก็ช่วยแก้ปัญหาได้” นักวิชาการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าว

 

          นายศุภกร วงศ์ปราชญ์ กรรมการ กสค. และ ผอ.สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจกรรมนักเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เด็กในโรงเรียนมีมากมาย เด็กใช้ความรุนแรงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้ภาพเด็กทั้งหมดเป็นภาพลบ การแก้ปัญหาต้องอาศัยตัวเด็กเอง ผู้ปกครอง โรงเรียน หากแก้ไขไม่ได้ผู้บริหารก็น่าจะได้รับโทษ มีผลต่องบประมาณโรงเรียน ซึ่งเหตุการณ์ไม่กี่วันมานี้มีคดีนักเรียนตีกัน 18 คดี มีโรงเรียนขึ้นบัญชีดำ 18 โรงเรียน ที่มีคดีตีกันทุกวัน และ 3-4 วันครั้ง ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา จะต้องมีกิจกรรมให้เด็กทำเพื่อลดปัญหาตีกัน

 

          วันเดียวกัน ที่ จ.ปทุมธานี พล.ต.ต.เมธี กุศลสร้าง ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี พ.ต.อ.อำนาจ จันทร์เจริญ พ.ต.อ.ธวัชชัย ยิ่งเจริญสุข รองผบก.พ.ต.อ.วัฒนา วงศ์จันทร์ ผกก.สภ.ประตูน้ำ จุฬาลงกรณ์ ร่วมเปิดศูนย์ป้องกันเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาท ที่ห้องประชุม สภ.ประตูน้ำ จุฬาลงกรณ์ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากโรงพักต่างๆ เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่รวม 50 คน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

          ต่อมาที่ สภ.ปากคลองรังสิต อ.เมืองปทุมธานี ได้มีกลุ่มนักเรียนอาชีวะจาก 3 สถาบัน ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี วิทยาลัยเทคโนโลยีปทุมธานี และวิทยาลัยแหลมทอง จำนวนประมาณ 60 คน มารวมตัวกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยการช่วยกันกรอกทรายใส่กระสอบ และทำเขื่อนกันน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่ด้านหลัง สภ.ปากคลองรังสิต

 

          พล.ต.ต.เมธี กล่าวว่า การรณรงค์บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ของนักเรียนจากสถาบันอาชีวะ ทั้ง 3 สถาบันในครั้งนี้ เกิดจากแนวความคิดของคณะครูอาจารย์จากทั้ง 3 สถาบันและตำรวจ เนื่องจากที่ผ่านมานั้น แม้เจ้าหน้าที่จะกวดขันจับกุมกลุ่มนักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อทางตำรวจเดือดร้อนเกิดน้ำท่วมโรงพัก ครูอาจารย์และน้องๆ จากทั้ง 3 สถาบันก็รวมตัวกันมาร่วมกันช่วยเหลือ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีและจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างดี

 

          พ.ต.อ.สุรพงษ์ ถนอมจิตร์ ผกก.สภ.ปากคลองรังสิต กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและครู อาจารย์จากสถาบันการศึกษา ในการร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันนั้น ทำให้ทราบว่า มีเพียงนักเรียนบางส่วนหรือกลุ่มนักเรียนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ยังนิยมความรุนแรง และตกเป็นเหยื่อของนักเรียนรุ่นพี่ ที่พยายามชักจูงให้ไปทะเลาะวิวาทกับนักเรียนต่างสถาบัน ในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับข้อมูลข่าวสารในการป้องกันเหตุเป็นอย่างมากจากนักเรียนอาชีวะ อันนำไปสู่การเฝ้าระวัง ตรวจค้นนักเรียนต้องสงสัย จนสามารถจับกุมนักเรียนที่พกพาอาวุธเตรียมที่จะก่อเหตุทะเลาะวิวาท

 

          พ.ต.อ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้พบว่ากลุ่มนักเรียนอาชีวะจำนวนมากที่ไม่ชอบความรุนแรง และเบื่อหน่ายการทะเลาะวิวาท และยังอยากบำเพ็ญประโยชน์ให้สังคม เพื่อให้สังคมได้เห็นแง่มุมในด้านบวกของนักเรียนอาชีวศึกษา และยังเป็นการรักษาชื่อเสียงความเป็นอาชีวะที่จะจบไปเป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมของประเทศอีกด้วย ซึ่งความร่วมมือนี้จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปรองดองของทั้ง 3 สถาบัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

 

 

Update : 13-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

 


Shares:
QR Code :
QR Code