ตะลึงโจ๋ไทย 1 ใน 4 รู้เพื่อนทำแท้ง

ตะลึงโจ๋ไทย 1 ใน 4 รู้เพื่อนทำแท้ง

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ กล่าวถึงรายงานสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ว่าจากการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทยในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก 20,000 คน ใน 4 ช่วงอายุ จาก 20 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าในด้านสุขภาพมีเยาวชนระดับม.ต้นและม.ปลายรับประทานอาหารเช้าเป็นประจำเพียงร้อยละ 50 และเมื่อขึ้นอุดมศึกษาจะเหลือเพียงร้อยละ 37 และยังพบว่าเด็กยังมีค่านิยมสวยผอม โดย 1 ใน 3 มีความคิดใช้ยาลดความอ้วน ทำศัลยกรรม

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ นายอมรวิชช์ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ภาวะเครียด พบว่าเด็กในระดับมัธยมฯ ถึงอุดมศึกษาประมาณ 1 ล้านคน มีอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดไม่รู้สาเหตุ และเกือบร้อยละ 50 เคยมีอาการเครียดจนปวดท้องหรืออาเจียน การที่พบว่าเด็กมีความสุขในการไปเรียนลดลงสะท้อนว่าระบบการศึกษาต้องมีการเปลี่ยนแปลง จึงควรปรับการจัดการศึกษาในโรงเรียนไม่แน่นจนเกินไป โดยเพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กมีทางออกจากความเครียด

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนเข้าสู่การมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 24 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2554 ขณะเดียวกันพบว่าเด็กถึงร้อยละ 27 มีเพื่อนสนิทเคยตั้งท้องหรือเคยทำแท้ง และมีเด็กไทยถึง 1 ใน 4 รู้สึกว่าการมีกิ๊กหรือมีแฟนหลายคนพร้อมกันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ สะท้อนถึงพฤติกรรมและค่านิยมของเด็กจำนวนมากที่ยังสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาให้ตนแอง มีเพียงร้อยละ 53 เท่านั้นที่รู้ถึงข้อจำกัดและความเสี่ยงในการใช้ถุงยางอนามัย และมีเด็กร้อยละ 57 ที่ยอมรับการพกถุงยางอนามัยติดตัว นายอมรวิชช์กล่าว

นายอมรวิชช์กล่าวอีกว่า ประเด็นความรุนแรงในเด็กและเยาวชนไทยในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า จากจำนวนเด็กในระดับมัธยมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน มีเด็กและเยาวชนกว่า 7 แสนถึง 1 ล้านคนตกอยู่ในภาวะความรุนแรงในโรงเรียน เช่น ถูกขู่กรรโชกทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และการทะเลาะวิวาทกับเพื่อนนักเรียน โดยร้อยละ 33 ที่พบเห็นการพกพาอาวุธร้ายแรง อาทิ ปืน มีดดาบ ระเบิดทำเอง เป็นต้นเข้ามาในสถานศึกษา นอกจากนี้สื่อยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อเด็กไทย โดยใช้เวลาดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ เล่นอินเทอร์เน็ตรวมกันกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ที่น่าสนใจคือเด็กจำนวนกว่าร้อยละ 50 นิยมดูละครโทรทัศน์ จึงจำเป็นต้องสร้างสื่อเพื่อสะท้อนการใช้ชีวิตอย่างฉลาด ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ