ตะกร้าปันผักอินทรีย์ เดลิเวอรี่ถึงบ้าน
พืชผักเป็นพืชอาหารที่คนไทยนิยมนำมาใช้รับประทานกันมากเนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูง “ตะกร้าปันผัก” เพิ่มช่องทางการบริโภคผักอินทรีย์คนรักสุขภาพ
นับตั้งแต่เกษตรอินทรีย์ถูกปูพรมในสังคมไทยทั้งการส่งเสริมจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระทั้งหลายมายาวนานนับ 20 ปี แต่พืชผักอินทรีย์ยังไม่แพร่หลายสู่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้ อีกทั้งไม่มั่นใจว่าเป็นผักอินทรีย์แท้ ขณะเดียวกันภาคเกษตรกรผู้ปลูกก็เพียรตั้งคำถามกับตัวเองว่าปลูกแล้วจะขายที่ไหน
โครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือกด้วยกลไกเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดย บริษัทสวนเงินมีมา จำกัด ที่มุ่งมั่นสร้างตลาดจิตสำนึกใหม่ เพื่อเพิ่มช่องทางแห่งการสร้างตลาดทางเลือกเพื่อนำไปสู่อาหารอินทรีย์ถ้วนหน้า ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิเอ็มโอไท
กิจกรรมหนึ่งของตลาดจิตสำนึกใหม่ซีเอสเอ CSA (Community Supported Agriculture) ตลาดแบ่งปันที่สานสัมพันธ์คนปลูก คนกิน ด้วยระบบสมาชิก โดยที่คนกินยอมจ่ายเงินล่วงหน้าตามราคาที่ตกลงกันเป็นราย 3 เดือน 6 เดือนหรือรายปี เพื่อให้คนปลูกมีทุนไปหมุนเวียนในการปลูกผัก เป็นการร่วมลงทุน ร่วมดูแลบนความไว้ใจซึ่งกันและกัน เมื่อได้ผลผลิตเกษตรกรก็จะนำส่งให้คนกินตามปริมาณที่ตกลงกันไว้
ปัจจุบันมีระบบสมาชิก CSA ตะกร้าปันผัก ระบบสมาชิก CSA ศูนย์สุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และระบบสมาชิก CSA ต.บึงซำอ้อ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี
ซีเอสเอนั้นเป็นเรื่องสากล มีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยนำแนวคิดการทำเกษตรแบบชีวพลวัตรของนักปรัชญา รูดอล์ฟ สไตเนอร์ มาเป็นต้นแบบวิถีเกษตรในยุโรป เช่น ที่เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ก่อนที่จะขยายไปยังอเมริกา ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก่อนทศวรรษ ที่ 1970 มีระบบที่เรียกว่า "เตเก้" (Teikel) เพื่อฟื้นฟูเกษตรดั้งเดิม
โดยเริ่มจากกลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่นที่กังวลเกี่ยวกับความสามารถในการผลิตอาหารในประเทศจากปัญหาขาดแคลนที่ดิน จึงแสวงหาเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์และพร้อมให้การสนับสนุน โดยเข้าไปเป็นหุ้นส่วนการผลิต
ทุกวันนี้ระบบซีเอสเอในญี่ปุ่นสามารถสร้างผลผลิตให้แก่ประชากรถึง 22 ล้านคน ส่วนในประเทศจีนได้เกิดระบบซีเอสเอเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันระบบซีเอสเอในตระกร้าปันผักมีผักส่งตรงมาจากเกษตรกร จ.อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี เป็นต้น เป็นผักตามฤดูกาล เช่นเดียวกันผู้บริโภคสามารถร้องขอได้ว่าช่วงนี้มีต้องการบริโภคผักชนิดใด แต่ที่ยืนพื้นคือเห็ดชนิดต่าง ๆ ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ 5 ฟองในตะกร้าผักไซซ์เล็ก ราคาตะกร้าละ 350 บาท (รวมค่าส่ง) ส่งสัปดาห์ละครั้งบริโภคเพียงพอในจำนวนคน 2-3 คน
ตะกร้าปันผักเกิดขึ้นจากแนวคิดของ เพ็ญศรี บำรุงสิทธิวงศ์ (ครูเล็ก) และ พอทิพย์ เพชรโปรี (ครูหน่อย) ที่ดำเนินการ 2 ปีแล้ว ปัจจุบันสมาชิกจำนวน 90 ราย เป็นลูกค้าในกรุงเทพฯเป็นหลัก ผักแต่ละตะกร้าจะส่งไปกับรถห้องเย็นของนมแดรี่โฮม กรณีที่ลูกค้าไม่อยู่บ้านหรือไม่แจ้งล่วงหน้าว่าจะไม่รับตะกร้าผัก ทางโครงการจะนำผลิตภัณฑ์ไปบริจาคให้มูลนิธิสงเคราะห์เด็กกำพร้าแห่งประเทศไทย
ภาวินี ชัยพุฒิ ลูกค้าตะกร้าปันผัก เล่าว่าเลือกระบบผักส่งตรงถึงบ้านเพราะอยากจะสนับสนุนของปลอดสารเรารับรู้ว่า มีเกษตรกรปลูกออกมา ไม่มีคนซื้อเราจึงอยากช่วยเหลือกัน แม้ที่บ้านอยู่ 5 คนแต่ลูก ๆ ไม่ได้ทานข้าวทุกวัน ผักในตะกร้ากินไม่หมด แต่จะแบ่งปันไปให้บ้านอาม่าด้วย ซึ่งจริง ๆ ผักแค่นี้พอกิน เพราะที่บ้านปลูกผักกินเองด้วย
"เทียบกับซื้อซูเปอร์ราคาไม่ถูกกว่า แต่มั่นใจว่า ของตะกร้าปันผักดีกว่า ใน หนึ่งตะกร้ามีผักตามฤดูกาลเพียงแต่ว่าอยากกินผักอะไรก็จะบอกเขาไป เราไม่รู้เหมือนกันว่าแต่ละอาทิตย์จะได้ผักอะไรมา"
ตะกร้าปันผักยังแนะนำการปรุงอาหารในแต่ ละเมนูผักที่ส่งให้กรณีผักตามฤดูกาล แล้วผู้บริโภคคิดไม่ออกว่าจะปรุงอาหารด้วยเมนูอะไร
"สิ่งที่ทำไม่สูญเปล่า มีคนกินของที่เราทำ แม้ว่าผักจะไม่สวยเท่ากับผักตลาด แต่ก็ปลอดภัย รู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่า เป็นคนทำอาหารให้เขากิน" เกษรา เงินรัตน์ เกษตรกรกล่าวตลาดจิตสำนึกใหม่ ผ่านตะกร้าปันผัก คือช่องทางตลาด ที่คนกินรับรู้ถึงความใส่ใจของคนปลูก ตระหนักถึงความเป็น ธรรมที่สัมพันธ์ไปกับต้นทุน พร้อมยอมรับผลิตผลที่เติบโตตามฤดูกาล
สนใจสมัครสมาชิกตะกร้าปันผักเข้าไปที่เฟซบุ๊ก Csa Thai หรือสอบถามรายละเอียดที่ 08-4650-7035 คุณเล็ก 08-6332-8266 คุณหน่อย
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ โดย พรประไพร เสือขาว
ขอบคุณภาพจาก Facebook Csa Thai