‘ตลาดบางเชือกหนัง’ อีกแหล่งสุขภาวะชุมชน
เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปทั้งคนไทยและต่างชาติที่เข้ามาเยือนประเทศไทย ทั้งเพื่อสัมผัสธรรมชาติ สัมผัสวิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชน สัมผัสรสชาติอาหารพื้นบ้านที่มักถูกปรุงด้วยวัตถุดิบปลอดสารพิษ ผลผลิตในท้องถิ่นที่แสนจะอร่อยเอกลักษณ์ไทย ผลไม้ไทยร่มรื่น ชื่นใจไปกับไอเย็นแห่งสายน้ำ
กลายเป็นพื้นที่สร้างสุขภาวะทั้งกายและใจ ก็คือตลาดเอกลักษณ์ไทยที่เรียกว่า “ตลาดน้ำ” ตลาดแรกๆ ที่ดังไปทั่วโลกก็คือ ตลาดน้ำดำเนินสะดวกหรือตลาดน้ำอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม แล้วก็มีตลาดน้ำเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายแห่ง เฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่กทม.ปริมณฑล และบางจังหวัดก็มีตลาดน้ำที่กลายเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างรายได้เสริมให้ชาวชุมชน ทั้งยังเป็นจุดเผยแพร่ความดีงามของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง
ล่าสุดเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อไม่นานมานี้ สำหรับพื้นที่สุขภาวะและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร กับ ‘ตลาดบางเชือกหนัง’ ริมคลองบางเชือกหนังบางระมาด ณ ชุมชนพูนบำเพ็ญ จรัญสนิทวงศ์ 13 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเขตภาษีเจริญ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน ม.สยาม และชาวชุมชนพูนบำเพ็ญ
ถึงจะไม่ใช่ตลาดน้ำเต็มรูปแบบแต่ก็มีกลิ่นอายแห่งความฉ่ำเย็นจากสายน้ำในลำคลอง สร้างเสริมสุขภาวะ สร้างเสริมการถ่ายเทผลผลิตและแหล่งรายได้เสริมเพิ่มเติมอีกจุดหนึ่งของชาวชุมชน
ท่ามกลางบ้านเรือนตลอดริมคลองร่มรื่นด้วยต้นไม้และไม้ดอกนานาพันธุ์สะดุดตาด้วยกระถางและตะกร้าปลูกพืชผักสวนครัวหลายชนิด เช่น พริก ใบกะเพราโหระพา สะระแหน่ ผักปวยเล้ง ฯลฯ ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันปลูกไว้กินเองในครัวเรือนหากมีเหลือกิน จึงจะนำไปแจกจ่ายและขายในตลาดสด
ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี ม.สยาม ประธานเปิดบอกถึงวัตถุประสงค์ที่เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนว่า เริ่มขึ้นด้วยความสนับสนุนของ สสส.ที่มีแนวคิดอยากจะเห็นนักเรียน-นักศึกษาจะได้ออกไปเรียนรู้กันข้างนอกบ้าง ไม่ใช่อยู่แค่ในห้องเรียน โดยเฉพาะการมีโอกาสมาเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นห้องสมุดท้องถิ่นที่เยาวชนหาความรู้ได้
“การดำเนินการของเราเน้นทำงานในลักษณะที่เป็นองค์รวม ทั้งการดูแลสุขภาพและวิถีชีวิต ซึ่งการจะทำให้ยั่งยืนได้จำเป็นมากที่จะต้องมีวิธีคิด ‘เชิงระบบ’ส่งเสริมการออกกำลังกาย การปลูกผักกินเองที่ชาวบ้านทำได้ แล้วถ้ามีเหลือ จะเอาไปขาย จะทำอย่างไรให้พวกเขามีรายได้เพียงพอ” ดร.พรชัยย้ำ
เจ้าของพื้นที่ นายประยุทธ พูนบำเพ็ญ ผู้อาวุโสของชุมชนฯ บอกว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชน เมื่อกว่า 60 ปีก่อนที่แห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า “บางฉมัง” เป็นไร่สวน บ้านเรือนอยู่ชายคลอง เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป คนภายนอกเข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยกันมากขึ้นเรื่องการเกษตร ทำสวน หรือปลูกไม้ดอกจึงค่อยๆ หายไป
“ปัจจุบันชาวบ้านที่ยังเก็บที่ดินตัวเองไว้แม้จะแปลงเล็กๆ ก็ยังปลูกผักไว้กินเอง มีคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้งจีนแล้วก็พัฒนาปลูกผักกระถาง เพราะ กทม.ไม่มีพื้นที่ทำเกษตรอีกแล้ว แต่ในเมื่อเรายังพอจะมีที่ดินบ้าง ก็ต้องส่งเสริมให้คนรู้จักการปลูก ริมรั้วก็ส่งเสริมกันให้ใช้ประโยชน์สูงสุด บ้านยังอยู่ริมคลองที่ไม่ถูกถม ที่นี่เลยมีเกษตรริมคลอง มีโรงเห็ด ไม่ต้องไปซื้อกิน แล้วก็ได้กินของคุณภาพดีไม่มีสารพิษ นอกจากนี้ก็มีส่งเสริมให้แต่ละบ้าน รู้จักการดูแลรักษาต้นไม้ออกกำลังกาย แล้วก็ดูแลสุขภาพกันมากขึ้น จะได้ไม่ต้องไปหาหมอ สร้างสุขภาวะกายใจได้ดีทีเดียว” นายประยูรบอก
ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติเกิดแก่เจ็บตาย บางเชือกหนัง หรือ’ บางฉมัง’ วันนี้ถึงจะเปลี่ยนแต่ยังคงถูกอนุรักษ์ความเป็นท้องถิ่นไทยไว้พอที่จะให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้เข้ามาซึมซับเอาความสุขกายสุขใจ อย่างเช่นความสุขจากการเป็นแหล่งเรียนรู้ ก็น่าจะสร้างการตระหนักให้ผู้รับผิดชอบได้ฉุกคิด ร่วมสืบสานเพื่อเป็นแหล่งสร้างสุขให้ผู้คนที่ไปเยือน เป็นที่หมายตาของคนไทยและคนทั้งโลกไปดูดซับความสุขไม่แพ้ที่อื่นๆ
**ขับรถเข้าทางซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 ตรงไปจนถึงถนนบางแวก 116 หรือเข้าทางถนนสาทร – ราชพฤกษ์ แล้วเลี้ยวซ้ายสู่ถนนบางแวกได้อีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ