ตรวจร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ลดนักดื่มหน้าใหม่

         กรมควบคุมโรคคุมเข้มห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในและรอบสถานศึกษา หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกและ/หรือปรับ เผยสื่อโฆษณากระตุ้นเยาวชนให้อยากรู้ อยากลอง ขณะที่สถานการณ์ครอบครัว เพื่อน ชุมชน เอื้อต่อการเข้าถึงเหล้าได้ง่าย


/data/content/26348/cms/e_afgiorsuvxz1.jpg


         นายแพทย์ โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบร้านเหล้า รถเข็นเหล้าปั่น และร้านขายบารากู่ที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับตำรวจ สภ.ปากคลองรังสิต จ.ปทุมธานี สรรพสามิต สสจ.ปทุมธานี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พบมีสถานบริการหลายแห่งกระทำผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวนมาก อันดับ 1 ที่ตรวจพบแทบทุกร้านคือการทำผิดเรื่องโฆษณาเหล้าเบียร์โดยมีการปิดประกาศตามจุดสำคัญต่างๆ ของร้านอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะป้ายหน้าร้าน ป้ายหน้าห้องน้ำ การจัดตั้งป้ายโปรโมทไว้บนโต๊ะ รองลงมาคือการทำผิดเรื่องการส่งเสริมการขาย โดยจะทำในลักษณะของการจัดแสดงทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ หรือโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม การมีพนักงานเชียร์เหล้าเบียร์เป็นหญิงสาวหน้าตาดี


         นอกจากนี้ยังพบมีการทำผิดเรื่องขายเหล้าเบียร์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีด้วย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้เจ้าของร้านต่างๆ ได้รับทราบความผิดตามข้อกฎหมาย พร้อมทั้งให้เซ็นรับทราบข้อกล่าวหาเพื่อส่งเรื่องดำเนินคดีต่อไป


         สำหรับโทษจากการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กรณีการทำผิดเรื่องโฆษณาโทษสูงสุดคือจำคุก 1 ปี ปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่มีการปลดป้ายโฆษณาออกจะถูกปรับเป็นรายวันๆ ละ 5 หมื่นบาท ส่วนกรณีการส่งเสริมการขายด้วยวิธีต้องห้ามมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายเหล้าเบียร์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เจ้าของร้านมีโทษจำคุก1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการตรวจจับในครั้งนี้ได้ดำเนินคดีกับสถานบริการไปหลายราย พร้อมทั้งได้แจ้งให้มีการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน และหากมีการพบอีกว่ายังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขจะมีการจับกุมเปรียบเทียบปรับในอัตราขั้นสูงต่อไป


         น.พ.โสภณ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายซึ่งมุ่งช่วยลดนักดื่มวัยรุ่น/data/content/26348/cms/e_cdegkmntxyz9.jpgหน้าใหม่ และช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนน ลดการทะเลาะวิวาท นอกจากนี้ยังไม่อำนวยความสะดวกให้มีการยุยงส่งเสริมให้คนหันไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการโฆษณา ประกาศเชิญชวนการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม การเล่นเกมชิงรางวัลที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ เพราะหากมีการลดบทบาท ลดกิจกรรมที่ยุยงให้คนไปดื่มจะทำให้ผู้ดื่มลดลงหรืออยู่ในวงแคบลง โดยประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โทร.0-2590-3392 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร.1422 เมื่อมีการดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุดแล้วผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับสินบนนำจับเป็นค่าตอบแทน


         จากข้อมูลโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ปี 2554 พบว่าคนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นนักดื่มปัจจุบัน หรือเป็นผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนทั้งสิ้น 16,992,016 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 31.5 ของประชากรผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ 20.4 ปี ประชากรชายเริ่มดื่มที่อายุเฉลี่ย 19.4 ปี ประชากรหญิงเริ่มดื่มที่อายุเฉลี่ย 24.5 ปี และจำนวนกว่า 7.5 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของผู้ดื่มเป็นผู้ดื่มประจำ โดยปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของเยาวชน เช่น ค่านิยมของสังคมในการเปิดรับสื่อโฆษณา กระตุ้นให้เยาวชนอยากรู้ อยากลอง สถานการณ์ในครอบครัว เพื่อน และชุมชนที่เอื้อต่อการดื่มของเยาวชน และการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เป็นต้น


         นายแพทย์ โสภณ กล่าวต่อว่า คนไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการจราจร เพราะขาดสติในการขับขี่รถ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว และเทศกาลต่างๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร พบว่า ในจำนวน 3 คดี ที่เกิดขึ้น จะมี 1 คดีที่มีคนเสียชีวิต และในช่วงเทศกาลจะพบว่า 3 ใน 5 หรือ ร้อยละ 70 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นพบแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดของผู้เสียชีวิตด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นตัวการก่อปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย พบว่า/data/content/26348/cms/e_cefglpuwz157.jpgประชากรกว่า 3 ใน 4 คนเคยพบเห็นการทะเลาะโต้เถียงกันกับคนในครอบครัวจากน้ำเมา และประมาณร้อยละ 30 เคยพบเห็นการทำร้ายร่างกายของคนในครอบครัวจากการดื่มสุรา และจากการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมติเห็นชอบในหลักการออกประกาศอีก 3 ฉบับ คือ


          1. ห้ามขายห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ ทางรถไฟ และสถานีรถไฟ


          2. กำหนดให้พิมพ์ฉลาก ข้อความเตือน รูปภาพเตือนพิษภัยอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


          3. บังคับให้พิมพ์ข้อความคำเตือนที่ต้องแสดงพร้อมกับภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณต่างๆ รวมทั้ง สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณ ที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือสถานศึกษาที่สอนการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ


       อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร. 02 590 3392 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422


 


 


        ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code