ตรวจความพร้อมพ่อแม่ เตรียมบ้านเป็นศูนย์จัดการศึกษาเรียนรู้เด็กพิการ
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายด้านการจัดการศึกษาเรียนรู้แก่เด็กพิการ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของพ่อแม่ที่เป็นบทเรียน รูปแบบ และวิธีการจัดการศึกษาเรียนรู้แก่เด็กพิการ โดยครอบครัว แนวทางการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ การยกระดับองค์ความรู้การจัดการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพพ่อแม่ผู้ปกครองในการจัดการศึกษาเรียนรู้
ผู้ร่วมเวทีในครั้งนี้ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้ชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 9 ศูนย์ ศูนย์เตรียมความพร้อมเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จ.นครพนม ศูนย์การศึกษาพิเศษ จ.นครศรีธรรมราช มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ และมูลนิธิคริสเตรียนเพื่อเด็กพิการ
นางแสงเพลิน จารุสาร ศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว(บางแค) นิยามความหมายการเรียนของเด็กพิการที่ต่างจากการเรียนทั่วไปว่า สิ่งที่เด็กควรเรียนรู้คือการมีชีวิต การอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เราไม่มองว่าเขาพิการ น่าสงสาร แต่ต้องมองว่าเขายังขาดอะไร และเราจะช่วยเติมเต็มเขาได้อย่างไร พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นกลไกสำคัญ ไม่ใช่รัฐจัดอะไรให้มาก็รับโดยไม่รู้ว่าตรงกับลูกเราหรือไม่
แม่เพลินและน้องกันต์
“การจัดการศึกษาให้แก่ลูกพิการจำเป็นต้องปรับความคิดของพ่อแม่ที่คิดว่าต้องให้ลูกไปโรงเรียนทั้งๆ ที่เข้าเรียนแล้ว ก็ไม่ได้เรียนเพราะระบบไม่มีความพร้อมและรองรับเด็กพิการเรียนร่วมได้ ครอบครัวต้องพึ่งตนเอง กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาลูกของเรา ทำให้เขามีชีวิตรอดได้ ไม่เป็นภาระใคร”
นายวิทยา โคตรภู ครูประจำศูนย์เตรียมความพร้อมเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ที่ศูนย์ฯ ดูแลเด็กหูหนวก 23 คน เป็นเด็กที่เรียนภาษามือในศูนย์ฯ จำนวน 15 คน และเข้าเรียนในห้องเรียนเรียนร่วม โรงเรียนสุนทรวิจิตร จำนวน 8 คน ทางศูนย์ฯ เน้นการสอนใช้ภาษามือเพื่อการสื่อสาร เพราะภาษามือเป็นพื้นฐานสำคัญในการสื่อสาร
“สิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้เป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลตัวเอง แนะนำให้เด็กรู้จักอาชีพ เช่น การปลูกผักสวนครัว ซึ่งเด็กหูหนวกจะสนใจมาก สอนเรื่องคุณธรรมให้ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ การใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนๆ มีการพาเด็กไปทัศนศึกษานอกสถานที่เพื่อเรียนรู้สิ่งรอบตัว มีการสอนภาษามือให้แก่พ่อแม่เด็กพิการด้วยเพื่อที่จะสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ด้วย”
นายอดิศักดิ์ รอดสุวรรณ ชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ มาจากเราไม่อยากพึ่งคนอื่น คิดแบบร้านสะดวกซื้อ ใกล้ที่ไหนฟื้นฟูที่นั่น ด้วยหลักคิดเรื่องการพึ่งพิงตนเอง เมื่อเด็กต้องอยู่กับครอบครัว ครอบครัวก็ต้องจัดการให้ได้ ทั้งในเรื่องความพิการ การทำมาหากิน ปัญหาส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งการทำให้พ่อแม่ได้มารวมกลุ่มกันที่ศูนย์ฯ สามารถช่วยเหลือกันและกัน แบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลลูก ซึ่งเป็นประโยชน์มาก บางครั้งก็เชิญหมอ และนักวิชาการมาให้ความรู้ ช่วยลดปัญหาการเดินทาง ขณะที่การทำกิจกรรมก็เป็นการเสริมพลังและเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน
ศ.วิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ กล่าวว่า นอกจากการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา กลุ่มคนพิการ กลุ่มด้อยการศึกษา ทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งโอกาสคือให้มีรูปแบบหลายๆรูปแบบ เพื่อที่คนพิการจะได้มีโอกาสเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเองเช่น โรงเรียนทั่วไป โรงเรียนคนพิการโดยเฉพาะ การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาที่บ้าน การศึกษาที่ผู้ปกครองรวมกลุ่มกันจัดให้ลูกหลานของตนเอง ฯลฯ
“การที่ผู้ปกครองรวมตัวกันจัดการศึกษาให้เด็กพิการ เรียกกว่าศูนย์การเรียน มีการยกร่างกฎกระทรวงการจัดตั้งศูนย์การเรียนแล้ว ดังนั้นอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ขอสนับสนุนการจัดการศึกษาผ่านช่องทางที่มีอยู่ กรณีใช้แล้วติดขัดปัญหา มีเงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้ผู้ปกครองเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง จึงค่อยมาแก้กฎหมาย ยกร่างระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์การศึกษาเรียนรู้เด็กพิการเฉพาะให้เหมาะสมมากขึ้น” ศ.วิริยะ กล่าว
ที่มา: สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ