ด้วยรักที่ ‘เข้าใจ’ ลดความรุนแรงในสังคม
ความรุนแรงในสังคมไทยนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ในปี 2557 มีผู้เข้ามารับคำปรึกษาทั้งหมด 238 ราย ส่วนใหญ่ 90% เป็นความรุนแรงในครอบครัว ในช่วงอายุ 30-40 ปีขึ้นไป
แฟ้มภาพ
นอกจากนี้ยังพบว่า ความรุนแรงในวัยรุ่นหรือเยาวชนเพิ่ม มากขึ้นเกือบ 40% สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นสถานการณ์ความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่นหญิงช่วงอายุ 17-25 ปี จำนวน 1,204 ชุด จากสถาบันการศึกษา 14 แห่งใน กทม.และปริมณฑล พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรง คือ การนอกใจ หึงหวง แสดงความเป็นเจ้าของ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ความรุนแรงที่คุกคามสังคมไทย ได้จุดประกายให้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผสานความร่วมมือรณรงค์ลดความรุนแรงในคู่รักหรือครอบครัวภายใต้แคมเปญ "อย่าให้รัก กลายเป็นร้าย" เพื่อหวังสร้างความตระหนักรู้ ไม่ให้ผูกติดความรักเฉพาะหนุ่มสาวแต่มีความเข้าใจและมุมมองของความรักที่หลากหลายขึ้น
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาค ระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนปัญหาว่า ในแต่ละปี มีผู้หญิง เด็ก และเยาวชน เข้ามาปรึกษาปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น จำนวนมาก โดยปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ได้แก่ 1.เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ขาดสติและความยับยั้งชั่งใจ ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น 2.ทัศนคติ ด้วยความคิดที่ว่าฝ่ายชายมีอิทธิพลมากกว่าฝ่ายหญิง รวมถึงปัญหาติดการพนัน
ทั้งนี้ข้อมูลจาก สสส. เช่น ข้อมูลการดื่มแอลกอฮอล์ ติดการพนัน ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ "ตรงจุด" และเป็น "รูปธรรม" อย่างการลด ละ เลิก เหล้าและการพนัน สิ่งเหล่านี้ก็สามารถช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ
นางสว่าง พงพันธ์ พนักงานบริษัทเองชน อายุ 45 ปี เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ได้รับความรุนแรงจากครอบครัว เธอเล่าว่า ได้อยู่กินกับสามีมาตั้งแต่ อายุ 22 ปี ในระยะหลังสามีเริ่มติด การพนันหนักขึ้นจากที่มีเงินเก็บ มีทรัพย์สินก็หมดไปกับการพนัน เงินไม่พอใช้ และเริ่มทะเลาะกันเรื่อยมา เมื่อสามีอยากเลิกการพนัน แต่ก็สายเกินไป เพราะต้องล้มป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจึงตกมาที่เธอเพียงลำพัง
"ชีวิตครอบครัวต้องมีปัญหาเพราะการพนัน ทุกวันนี้ต้องสู้เพื่อลูก อยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้กับครอบครัวที่กำลังหลงผิด เพราะถึงแม้สามีจะไม่ได้ใช้ความรุนแรงทางร่างกาย แต่ก็ใช้พฤติกรรมทำร้ายจิตใจมาตลอด"
ขณะที่ นางสาวเอ (นามสมมติ) อายุ 19 ปี คุณแม่วัยใสผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง สะท้อนบทเรียนชีวิตในวัยเยาว์ให้ฟังว่า ช่วงที่คบหากับแฟนได้ประมาณ 1ปี ได้รับการเอาใจใส่และให้เกียรติอย่างดี แต่ระยะหลังเริ่มมีปากเสียงกันรุนแรงถึงขั้น ทำร้ายร่างกายจนได้เข้าโรงพยาบาล
ต้นเหตุมาจาก "ความหึงหวง" และหลังจากนั้นไม่นานเธอก็ตั้งครรภ์ แม้ฝ่ายชายทราบเรื่อง แต่ยังใช้ความรุนแรงเหมือนเดิม เธอจึงตัดสินใจแยกทาง กลับมาอยู่บ้านกับครอบครัวพร้อม ลูกน้อยวัย 1 ขวบ แต่ฝ่ายชายก็ยังตามมาขอคืนดีและยังคงใช้ความรุนแรงเช่นเคย จนต้องแจ้งความดำเนินคดี ปัจจุบันเลิกกับอดีตแฟนมาประมาณ 2 ปี และได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิหญิงชาย ก้าวไกล ทั้งเรื่องสิทธิ คอยให้กำลังใจและช่วยติดตามคดีกับ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ความรักมีได้ แต่ต้องมีสติคิดถึงอนาคตและคนในครอบครัว "อย่าให้รัก กลายเป็นร้าย" อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่สร้าง ความตระหนักไม่ผูกติดความรักเฉพาะหนุ่มสาวให้มีความเข้าใจและมุมมองของความรักที่หลากหลาย เพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ