ดู (หนัง) ด้วยกัน ที่พรรณนารามา
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ไปด้วยกันหรือเปล่า ไปดูกันหรือเปล่า ให้ใจสุขสำราญ" บทเพลงชื่อสกาลา จากวง Moderndog เนื้อหากำลัง ร้องเชิญชวนเพื่อนๆ ไปดูหนังกัน แต่สำหรับ ทิพย์ อนุพงษ์ และท็อฟฟี่ แล้วเพลงนี้ดูจะไม่มีความหมายกับพวกเขาสักนิด
"โรงหนังเหรอคะ ไม่เคยคิดค่ะ เข้าไปก็มองไม่เห็น เข้าไปทำไม" (ทิพย์)
"ดูหนังเหรอ ผมไม่ค่อยอยากเข้า เพราะดูแล้วเราตามไม่ทันคนอื่น เลยไม่สนุก" (อนุพงษ์)
"ให้ดูหนัง? ถ้าเป็นตัวเราเองให้เข้าคงไม่เข้า เพราะรู้สึกว่าไม่ได้เสพย์อะไร เหมือนกับคนปกติ" (ท็อฟฟี่)
แต่นั่นคือเสียงยืนยันความรู้สึกของ ทั้งสาม ก่อนหน้าที่พวกเขาและแกงค์เพื่อนๆ ผู้พิการทางสายตาอีกหลายสิบชีวิต กำลังทำ ในสิ่งที่ตัวเองก็คาดไม่ถึง เมื่อทุกคนเดินเข้าโรงภาพยนตร์หน้าตาเฉย!
ได้ยิน แต่ไม่ได้ Feel
สองชั่วโมงผ่านไป…ภาพตัดฉากไปที่หน้าโรงหนังหลังภาพยนตร์ฉายจบ "ทิพย์" นักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 22 ผู้พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิด เล่าประสบการณ์การดูหนังครั้งแรกกับพรรณนา เธอเดินออกมา พร้อมกับสีหน้าตื่นเต้น ดูก็รู้ว่าลุ้นสุดตัว ไปกับหนัง
"วันนี้หนูรู้สึกว่าได้ดูหนังเต็มเรื่อง ครั้งแรก" เธอกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะสดใส เล้วหนังวันนี้เป็นยังไง ? เราลองถามต่อ "มันน่ากลัวมาก!"
ปกติแล้ว หากไม่นับโอกาสพิเศษที่มีผู้ใหญ่ใจดีจัดเหมารอบให้ดูนานๆ ที ก็คงแทบไม่มีทางที่ผู้พิการสายตาเหล่านี้ จะมายืนอยู่หน้าโรงภาพยนตร์ เอสเอฟ ของเซ็นทรัลพระรามเก้ากันเนืองแน่นเช่นนี้ แต่วันนี้พิเศษกว่าวันไหนๆ เพราะพวกเขาตั้งใจมาดูภาพยนตร์เรื่อง "เพื่อนที่ระลึก" ด้วยตัวเองครั้งแรก เหมือนคนสายตาปกติทั่วไป พร้อมกับ "พรรณนา"
ทิพย์บอกเล่าต่อว่า เวลาปกติ คนตาบอดอย่างเธอดูหนังหรือละคร ก็ได้ยินแค่เสียงสนทนา ไม่มีคนบรรยายให้ ถ้าตัวแสดงพูดก็สามารถรับอารมณ์ได้ นิดหน่อย แต่อาศัยจับอารมณ์ผสมกับ เสียงดนตรีประกอบแล้วก็เดาเอา แต่บางทีเวลามีเสียงดนตรีตื่นเต้นเธอก็สงสัยไม่ได้ว่า เขากำลังทำอะไรกัน?
"เคยมีบางเรื่องที่เขาให้เราไปดูแล้ว มีคนบรรยายภาพให้ฟัง แต่เราก็เกรงใจค่ะ กลัวว่าจะสร้างความรำคาญให้คนดูคนอื่นรอบข้าง วันนี้ไม่ต้องแล้ว ฟังเสียงบรรยายจากแอพพรรณนาในโทรศัพท์มือถือ ของเราเองได้เลย มันดีนะ ทำให้เรารู้สึกเหมือนชมภาพยนตร์ไปพร้อมกับ คนสายตาปกติเลย" ทิพย์ว่า
สำหรับการฉายเรื่อง "เพื่อนที่ระลึก" ในรอบนี้ จริงๆ แล้วก็นับว่าเป็นอีกรอบพิเศษ ที่เกิดจากการร่วมมือกันของ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท จีดีเอชห้าห้าเก้า จำกัด, บริษัท กล่องดินสอ จำกัด และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยตั้งเป้าหมายเปิดตัวบริการแอพลิเคชัน "พรรณา" ฟรีแก่ผู้พิการทางสายตาครั้งแรก ในเมืองไทย
พรรณนา (PANNANA) เป็นแอพพลิเคชั่น เสียงบรรยายภาพสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น ที่พัฒนาโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ใจอาสา "กล่องดินสอ" โดยนำระบบเสียงบรรยายภาพที่เรียกว่า Audio Description หรือ AD คอยทำหน้าที่บรรยายภาพที่ช่วยให้ ผู้พิการทางการมองเห็นสามารถสร้างภาพจินตนาการจากการฟังบรรยายภาพด้วยเสียง ซึ่งเพียงเข้าไปโหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ลงในมือถือ แล้วเดินเข้าโรงภาพยนตร์ เสียบหูฟัง ก็สามารถชมภาพยนตร์ได้ เต็มอรรถรสร่วมกับคนสายตาปกติทั่วไป
สำหรับระบบ AD ดังกล่าวใน ต่างประเทศใช้กันมานาน แต่โรงหนัง บ้านเรา ทางจีดีเอชเป็นค่ายหนังรุ่นแรกๆ ที่บุกเบิกในเรื่องนี้ ซึ่งยังเคยทำ AD กับภาพยนตร์มาแล้วก่อนหน้า ได้แก่ พรจากฟ้า แต่อาจกล่าวได้ว่า นี่คือครั้งแรกของการให้บริการผ่านรูปแบบแอพฯ ที่ทำให้ไม่ต้องมีเสียง AD รบกวนคนดูอื่นในโรง
จาก "ด้วยกัน" สู่ "พรรณนา"
ย้อนกลับไปจุดเริ่มที่มาโครงการ วรวรรณ ชายไพฑูรย์ นักวิเคราะห์และบริหารโครงการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือว่า
"เดิมความตั้งใจแรกแอพตัวนี้เกิดมาเพื่อให้คนตาบอดดูหนังอยู่ที่บ้านก่อน โดยทางทีมงาน กล่องดินสอ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่แนวคิดก้าวหน้า มาคุยเสนอไอเดียที่เขาพัฒนาขึ้นกับทาง สสส.จึงเอามาจับเป็น ตัวช่วยให้คนพิการ แต่แล้วเราเกิดคำถามต่อว่าทำไมคนตาบอดไม่สามารถเข้าถึง โรงภาพยนตร์ได้ล่ะ มันทำให้รู้สึกว่าเขาแปลกแยก หรือเราแยกเขาออกไปจากสังคมนะ"
ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล หนึ่งในทีมก่อตั้งและผู้พัฒนาแอพพลิเคชันพรรณนา เล่าเสริมว่า "เรามองว่าเรื่องนี้ยังเป็นการแบ่งแยกอยู่ โอกาสเดียวที่เขาจะได้เข้าก็คือรอบพิเศษสำหรับเขาเท่านั้น แต่เราอยากให้คนพิการเดินเข้าโรงดูหนังเหมือนกับคนปกติ โดยเราไปคุยกับพาร์ทเนอร์หลายเจ้า ก่อนจะพัฒนามาเป็นแอพลิเคชัน ซึ่งสิ่งที่น่ายินดีกว่าการพัฒนาแอพลิเคชันในวันนี้ สำหรับผม คือการทำให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมมือกันส่งเสริมความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม"
แอพฯ พรรณา ไม่ได้เกิดเพียง ความตั้งใจจะให้คนตาบอดสามารถ มาดูหนังที่โรงภาพยนตร์ได้เหมือนคนอื่นเท่านั้น แต่ประเด็นสื่อสารที่สอดแทรกอยู่ คือการบอกกล่าวต่อสังคม และปรับทัศนคติคนในสังคมให้รู้และเข้าใจคนพิการ มากขึ้น ดังนั้นการมี "พรรณนา" จึงเป็นเพียง ส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ ที่เรียกว่า "ด้วยกัน" อีกหนึ่งโครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่ม สสส. ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา
ไอเดียหลักๆ คือการให้คนพิการกับ คนปกติหันมาจับมือกัน ร่วมทำกิจกรรม หรือทำงานอาสา ไม่ว่าจะเป็น วิ่งด้วยกัน เล่นด้วยกัน อาสาด้วยกัน และจิตอาสา การทำโรงเรียนสอนด้วยกัน เรียนด้วยกัน เป็นต้น โดยเป้าหมายสำคัญโครงการนี้ เริ่มจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการเปลี่ยน ทั้งทัศนคติคนในสังคมที่มีต่อคนพิการ รวมถึงตัวคนพิการเอง
ถึงเวลาเดินกลับสู่สังคม
"เอาจริงๆ ที่มาของโครงการ คือเราเขาอยากออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน" วรวรรณ เอ่ยต่อว่า "การที่คนปกติได้เห็นคนพิการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น จนเป็น กระแส มันทำให้คนทั่วไปให้การยอมรับ มองเห็นคนพิการว่าเป็นสมาชิกในสังคมเช่นกัน"
"แต่สิ่งที่เราได้พบเรื่องแรกคือ คนพิการเขาเข้าไม่ถึงเลย แม้กระทั่ง เรื่องข้อมูลข่าวสารและสิทธิ์ของตัวเอง ที่สำคัญคนปกติอย่างเราที่อยากช่วยเขาและตัวผู้พิการเอง บางครั้งก็ไม่รู้จริงๆ ว่าคนพิการต้องการอะไร"
วรวรรณยกตัวอย่างเรื่องอาชีพเป็นกรณีที่เห็นชัดเจน "เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าควรฝึกอาชีพอะไรเหมาะสำหรับเขา เราก็สอนเขาไปผิดๆ ถูกๆแต่สุดท้ายสิ่งที่เราสอนมันนำไปต่อยอดอาชีพให้เขาไม่ได้"
ดังนั้น "ด้วยกัน" ได้ช่วยพลิกมุมมองของความคิดคนในสังคมด้วยว่า "ต้องถามคนพิการด้วยนะ ว่าเขาต้องการอะไร สิ่งที่เขาอยากทำคือตรงไหน แล้วเราค่อยเข้าไปส่งเสริมหรือทำร่วมกันกับเขา"
เธอบอกต่อ "การทำงานร่วมกัน ครั้งนี้ ทำให้รู้เขารู้เรามากขึ้น"
หลังดำเนินงานมาเกือบสองปีที่ผ่านมาบางกิจกรรมจึงเกิดจากการคิดใหม่และการเรียนรู้ แต่บางกิจกรรมก็ออกมาในรูปของทดลองเพื่อ "นำร่อง" ไปสู่การค้นหาความต้องการที่อาจคาดไม่ถึง ทว่านอกจากจะ ตระหนักรู้แล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข ไปควบคู่กัน คือเรื่องสิทธิ์และความต้องการ ของคนพิการที่ยังไม่ได้รับการดูแล
วรวรรณเอ่ยว่า จริงๆ คนพิการไม่ได้ต้องการให้ใครเข้ามาโอบอุ้มหรือดูแล เขาขอแค่สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ เขาก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น
ท้ายสุดเมื่อถามจากประสบการณ์ ส่วนตัวที่ทำงานมาแล้ว ว่าสิ่งที่คนพิการ อยากได้มากที่สุดคืออะไร
"Respect ค่ะ" เธอตอบอย่างไม่ลังเล "ความนับถือในตัวตนของเขา เห็นในคุณค่าของเขา และเห็นว่าเขามีศักดิ์ศรีเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง โดยไม่ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย"
"เราเกิดคำถามต่อว่าทำไมคนตาบอด ไม่สามารถเข้าถึง โรงภาพยนตร์ได้ล่ะ มันทำให้รู้สึกว่า เขาแปลกแยก หรือ เราแยกเขาออกไป จากสังคมนะ"