ดูแลสุขภาพ “คุณแม่วัยทำงาน” ป้องกันแท้ง
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ
กรมการแพทย์แนะเคล็ดลับการดูแลสุขภาพ “หญิงท้องวัยทำงาน” ชี้ เลี่ยงงานหนัก การทำความสะอาด เสี่ยงลื่นล้ม ระวังภาวะโลหิตจาง กินอาหารครบ 5 หมู่ เตรียมจัดประชุมวิชาการคุณแม่มือใหม่ พัฒนาทีมแพทย์ด้านผดุงครรภ์
แฟ้มภาพ
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่ในสังคมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องรับผิดชอบทั้งงานในบ้านและทำงานนอกบ้านไปพร้อม ๆ กัน การเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นคุณแม่สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการดูแลตนเองของคุณแม่มือใหม่ที่ต้องทำงานไปด้วย ซึ่งการทำงานที่ปลอดภัยของหญิงที่ตั้งครรภ์ ลักษณะงานที่ต้องทำในช่วงตั้งครรภ์ ถ้าเป็นงานที่ไม่หนัก หรือเป็นความรับผิดชอบที่ไม่มากนัก สามารถทำงานได้จนกว่าจะคลอด สำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านในลักษณะที่ต้องมีการเดินบ่อย ยืนเป็นเวลานาน ๆ หรือว่าต้องยกของหนัก ควรหลีกเลี่ยง หากมีความจำเป็นควรใช้วิธีการงอเข่าหลังเหยียดตรง ปล่อยน้ำหนักไว้ที่ต้นขาจะช่วยไม่ให้คุณแม่ปวดหลังและระหว่างการทำงานควรมีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ โดยหมั่นขยับร่างกายตัวเองอยู่เสมอ
“หากต้องนั่งเก้าอี้นาน ๆ ควรมีพนักพิงที่เอียงประมาณ 110 – 120 องศา อาจเสริมเบาะสำหรับพิงเพื่อจะได้นั่งให้ก้นชิดพนักพิง และควรสวมใส่ชุดคลุมท้องที่เบาสบายไม่รัดรูปจนเกินไป งดใส่รองเท้าส้นสูง สำหรับงานในบ้านที่ไม่ควรทำ คือ การยกของในบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ห้องน้ำ ซึ่งอาจจะทำให้ลื่นล้มได้ นอกจากนี้ ยังต้องระวังปัญหาสุขภาพในช่วงตั้งครรภ์ที่พบบ่อย คือ ภาวะโลหิตจาง ทำให้คุณแม่มีอาการอ่อนเพลีย ซีด เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลมบ่อย วิงเวียนศีรษะและเบื่ออาหาร ซึ่งอันตรายของภาวะเลือดจางระหว่างตั้งครรภ์นั้น เลือดที่ไปเลี้ยงรกจะมีออกซิเจนน้อยกว่าปกติ ทำให้ทารกเกิดความผิดปกติหรือเสียชีวิตได้” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า คุณแม่มือใหม่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และสิ่งสำคัญ คือ การสร้างโภชนาการที่ดีตั้งแต่ในครรภ์ เพราะสารอาหาร มีผลต่อการเติบโตและพัฒนาการทางสมองของทารก ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นจำพวกโปรตีน จากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง แร่ธาตุเหล็กพบมากในตับ ไอโอดีนจากอาหารทะเล วิตามินโฟเลตจากผักใบเขียว เช่น กุ่ยช่าย หน่อไม้ฝรั่ง อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย และควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายพอประมาณ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือ กาเฟอีน งดสูบบุหรี่ กินยาบำรุงตามแพทย์สั่ง สำหรับยาอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งและเมื่อมีความผิดปกติควรพบแพทย์ทันที