ดูแลสุขภาพ’ใจ’สร้างสุขให้ชีวิต

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ดูแลสุขภาพ'ใจ'สร้างสุขให้ชีวิต thaihealth


แฟ้มภาพ


สุขภาพดี ที่ใครทุกคนต่างปรารถนาจะเกิดขึ้นได้ นอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง อีกสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ละเลยดูแลก็คือ สุขภาพใจ


การสำรวจ ดูแลจิตใจ เพิ่มความมีชีวิตชีวา ความสุขให้กับชีวิตได้อย่างไร นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ แนะนำวิธีสร้างสุข บำรุงรักษาจิตใจให้เข้มแข็ง สมบูรณ์ว่า ในปัจจุบันเราพบเจอกับความเครียดค่อนข้างมาก การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจจึงต้องดำเนินไปควบคู่กัน ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพร่างกาย นอกจากการออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาหารก็มีความสำคัญ ทานอาหารหลากหลาย มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ อีกทั้งควบคุมปริมาณให้เหมาะสม  และควรให้ความสำคัญกับการพักผ่อนที่เพียงพอ ฯลฯ


การดูแลสุขภาพจิตใจ ให้ตั้งสติ ทบทวน มองสำรวจตนเองว่ามีสิ่งใดที่รบกวนจิตใจหรือไม่ หากสำรวจพบว่า มีสิ่งที่บกพร่องที่ต้องการแก้ไข ก็ต้องไม่ลืมให้อภัยตนเอง และพร้อมปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยอาจเขียนสรุป ข้อดีและข้อเสีย


"ในข้อดีก็ต้องรักษา หากพบข้อผิดพลาด ปรับปรุงแก้ไข โดยหากเริ่มจากนี้ก็จะสามารถสร้างสุข ลดความทุกข์ที่เป็นข้อเสียได้  แต่ถ้าตั้งเป้าหมายไว้และยังไม่สามารถทำในสิ่งที่วางแผนไว้ได้ ซึ่งอาจรู้สึกท้อแท้ ไม่มั่นใจในตัวเอง และอาจจะล้มเลิกเป้าหมายหลักที่จะทำลงไป แนะนำให้กลับมาพิจารณาเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกครั้งว่า ยากเกินไปหรือไม่ และอาจต้องมีการวางแผน โดยมีเป้าหมายย่อยไว้ร่วมด้วย เพื่อช่วยให้เป้าหมายใหญ่สำเร็จ ได้ทำตามเป้าหมายหลักที่ตั้งใจไว้"


นอกจากการพิจารณาข้อดี ข้อเสียของตนเอง การให้เวลากับตนเอง ครอบครัว ฯลฯ ก็มีความสำคัญ ช่วยให้ชีวิตมีความสมดุล อีกทั้ง การพูดคุย เล่าระบายความ รู้สึก สิ่งที่เป็นความทุกข์  กังวลใจ ให้กับเพื่อนสนิท กับ คนในครอบครัวรับฟังก็เป็นสิ่งที่ควรมี  แต่หากมีความทุกข์ใจ ไม่สามารถเล่า ระบาย ให้ใครฟังได้ และถ้าอยู่ไกลจากครอบครัว สามารถโทรฯ ปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้


ปัจจุบันพูดกันถึง โรคซึมเศร้า กันมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุจากพันธุกรรม และภาวะความเครียดซึ่งเป็นตัวกระตุ้นโรค การดูแลตนเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ระบายพูดคุยกับผู้อื่นบ้างก็จะช่วยลดความเสี่ยงห่างไกลจากโรคซึมเศร้า แต่หากเกิดซึมเศร้า ลองสังเกตว่ามีสิ่งที่เป็นความผิดปกติหรือไม่ ซึ่ง สัญญาณเตือน ก็คือ ความเศร้าที่เกิดขึ้น มีความรุนแรงกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น หรือ มีความเศร้านานเกินกว่าปกติ หลายเดือนผ่านไปก็ยังไม่หายจากไป บางครั้งเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ เข้ามาจู่โจม คุกคาม ควบคุมไม่ได้ ความสุขที่มีหายไป และรู้สึกเบื่อหน่ายทุกอย่าง ฯลฯ ความเศร้าเช่นนี้เป็นความผิดปกติ ให้สำรวจตนเอง หรือ ทำแบบประเมินที่กรมสุขภาพจิต จัดทำเผยแพร่ในเว็บไซต์หรือโทรฯ ปรึกษาที่สายด่วนฯ ได้เช่นกัน


แต่หากมีความเศร้าเบื่อหน่ายที่ผิดปกติ น้ำหนักตัวลดลง นอนไม่หลับ ความมั่นใจตนเองลดลง รู้สึกเฉื่อยชา หรืออาจคิดเรื่องตาย ฯลฯ สัญญาณเหล่านี้ ไม่ควรรอช้าควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย


การเตรียมความพร้อมให้กับสุขภาพกายและสุขภาพใจจึงมีความสำคัญ ทั้งนี้ ร่างกายและจิตใจมีความเชื่อมโยงกัน โดยหากมีความเครียด สุขภาพจิต สุขภาพกายไม่ดี ระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็จะแปรปรวน สารสื่อประสาทในสมอง ฮอร์โมน ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบการย่อยอาหารก็จะมีความผิดปกติ ฯลฯ หรือหากมีโรคประจำตัวอยู่แล้วก็อาจทำให้แย่ลงด้วย


คุณหมออภิชาติ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ความทุกข์ ความ เครียด ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้กับทุกเพศวัย โดยปัญหามีต่างกันไปในเนื้อเรื่อง วัยเด็ก อาจเป็นเรื่องการเรียน วัยผู้ใหญ่อาจเป็นเรื่องสุขภาพ ความมั่นใจในตัวเอง ยิ่งผู้สูงอายุต้องดูแลสุขภาพจิตใจให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวัยใด ไม่ควรละเลยการดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจให้ดีพร้อมไว้ เพื่อห่างไกลโรค จากความเจ็บป่วย.


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code