ดูแลสุขภาพภายในดีกับผู้หญิงอย่างไร?
แนะเช็คอาการรอบเดือนใส่ใจเรื่องวิถีกินอยู่
“ผู้หญิง” มีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพมากมายที่ต้องดูแล สิ่งหนึ่งที่คุณผู้หญิงทุกคนไม่สามารถละเลยได้ คือ สุขอนามัยส่วนตัวที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์บริเวณจุดซ่อนเร้น เริ่มตั้งแต่มีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการได้รับเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งช่วงเวลามีวันนั้นของเดือนผู้หญิงเราต้องระมัดระวังดูแลความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้นมากเป็นพิเศษ
ประจำเดือนหรือเมนส์ที่ว่านี้เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติของร่างกายผู้หญิงที่เกิดขึ้นในทุกๆ เดือนจากการหลุดลอกของเยื่อบุผนังมดลูกหลังไข่ตกแล้วไม่ได้รับการผสมกับอสุจิหรือไม่ได้รับการปฏิสนธิจึงสลายตัวออกมาเป็นเลือดทางช่องคลอด ซึ่งไม่ใช่เลือดเสียแต่แสดงถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยเจริญพันธ์ “ผู้หญิงอยู่ในวัยที่ตั้งท้องได้”
โดยช่วงระหว่างมีวันนั้นของเดือน เป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดน้อยลง โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อจึงมีง่ายกว่าปกติ ด้วยเหตุนี้สาวๆ จึงควรหมั่นสังเกตรอบเดือนว่ามามากมาน้อยแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละช่วงเดือน เพราะนั่นเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ!!!
เนื่องจากปกติทั่วไป “รอบเดือน”จะมีระยะรอบตั้งแต่ 20-45 วันเป็นช่วงระยะเวลาก่อนไข่จะตกและเมื่อไข่ตกแล้วไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิจะมีรอบเดือนประมาณ 4-5 วัน ในช่วงเวลานี้จะสูญเสียเลือดประมาณ 30-40 มิลลิลิตร (2-3ช้อนโต๊ะ) ในบางคนอาจมีประจำเดือนสหม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอบ้างถือเป็นเรื่องปกติ แต่หาคุณผู้หญิงมีรอบเดือนมากว่า 7 วันขึ้นไปหรือมีก้อนเลือดขนาดใหญ่แถมต้องใช้ผ้าอนามัย 1-2 ผืนต่อชั่วโมงติดต่อกันตลอดทั้งวัน…
…สันนิฐานได้เลยว่าเป็นอาการภาวะ “ประจำเดือนมามาก” ซึ่งสาเหตุที่อาจพบได้ เช่น การใช้ยาแก้ปวดประเภทยาแอสไพริน มีส่วนทำให้มีเลือดออกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนที่ควบคุมเยื่อบุโพรงมดลูก ที่เกิดจากความไม่สมดุลกันของฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งทางการแพทย์หมายถึงเอสโตรเจนและโปรเจสโตโรนมีความเปลี่ยนแปลง ยิ่งในวัยรุ่นและวัยใกล้หมดระดู จะมีความผิดปกติของฮอร์โมนเหล่านี้ได้ง่ายเมื่อร่างกายเสียความสมดุลจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าปกติ
เช่นนี้แล้วสาวๆจึงไม่ควรมองข้ามสุขอนามัยส่วนตัวจุดบอบบางที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือนควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ตัวการก่อให้เกิดโรคภัยที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รบกวนสุขภาพกายใจของผู้หญิงตามมา…
อย่างโรค“มะเร็งปากมดลูก”ที่ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือมีคู่นอนหลายคน เพิ่มโอกาสติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งทางการแพทย์เรียกชื่อย่อว่า “เอชพีวี” อันเป็นตัวการก่อมะเร็งปากมดลูกที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ในประเทศไทยประมาณ 6,000 ถึง 7,000 คน และเกือบครึ่งหนึ่งต้องเสียชีวิต ซึ่งหากตรวจพบในระยะแรก อาจรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าตรวจพบในภายหลังที่มะเร็งลุกลามแพร่กระจายแล้วก็ยากรักษาให้หายขาดประมาณกันว่า ในทุกๆ 2 นาที มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 1 คน และมีผู้หญิงไทยเสี่ยงชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยวันละ 7 คนเลยทีเดียว
สำหรับกลุ่มหญิงรักหญิงโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูกอาจมีน้อยกว่า แต่ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคเพราะหญิงรักหญิงไม่ต้องคุมกำเนิด ทำให้โอกาสเป็นโรคมะเร็งรังไข่สูงกว่าคุณผู้หญิงที่เคยมีลูกหรือเคยคุมกำเนิด โดย“โรคมะเร็งรังไข่” นี้มักไม่แสดงอาการในระยะแรกเพราะก้อนมะเร็งเล็กเกินไป อาการที่พบบ่อย คือ ปวดท้องน้อย แต่พอทนได้ ถ้ามีอาการปวดอย่างรุนแรงอาจมีการบิดหรือแตกของก้อนมะเร็ง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมาผิดปกติ ยิ่งถ้ามะเร็งกระจายตัวไปตามอวัยวะอื่นแล้ว จะทำให้น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง ขาบวม หายใจขัด เรียกได้ว่าบั่นทอนสุขภาพของผู้หญิงอย่างรุนแรง
ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงทุกคนจึงควรดูแลใส่ใจสุขภาพดูแลรักษาความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้น โดยเฉพาะในช่วงมีรอบเดือนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยฝนตกสลับกับอากาศหนาว เกิดความอับชื้นในร่มผ้าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด สาวๆที่เป็นจะมีอาการคันและมีตกขาวที่ต่างจากตกขาวที่เกิดจากธรรมชาติของการมีรอบเดือน คือจะมีสีขาวหรือเหลืองเป็นก้อนคล้ายนมบูดและเกิดการระคายเคืองในช่องคลอด บางคนที่มีอาการรุนแรงบริเวณขาหนีบจะรู้สึกแสบแดง และระคายเคืองอย่างรุนแรง
เพื่อเป็นการป้องกันตนเองให้ห่างไกลตัวการทำลายสุขภาพ….. ผู้หญิงอย่างเราสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเองโดยในช่วงวันนั้นของเดือน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหันมารับประทานอาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กสูง เช่น กินผักใบเขียว ไข่แดง เพื่อเพิ่มธาตุเหล็กให้แก่ร่างกาย ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบเบาๆ อย่างการเดินเล่นรอบบ้านหรือทำงานบ้านเล็กๆน้อย ตามมาด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญอย่าลืมจดบันทึกรายละเอียดของประจำเดือน ไม่ว่าจะเป็น วันที่ จำนวนวัน จำนวนผ้าอนามัยที่ใช้ เพื่อเช็คสุขภาพวันนั้นของเดือนจะได้รู้เท่าทันอาการผิดปกติ
และหากในครอบครัวมีสมาชิกเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะ มะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรีดังที่กล่าวมานั้น ควรไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มต้นจะดีที่สุด ส่วนผู้หญิงที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์แล้วอย่างน้อย 3 ปี หรืออายุเกิน 21 ปีขึ้นไป ควรไปตรวจร่างกายและตรวจภายในเป็นประจำทุกปีด้วย
สิ่งเหล่านี้คงช่วยให้ “ผู้หญิง” มีแนวทางรับมือกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันนั้นของเดือนหรือช่วงเวลาปกติ ไปจนถึงโรคภัยร้ายที่จะเกิดขึ้นในสตรีเสี่ยงรับเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ซึ่ง “หากความผิดปกติเหล่านั้นถูกค้นพบและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ย่อมส่งผลดีต่อการรักษาให้หายขาด ลดโอกาสการสูญเสียชีวิตของคุณผู้หญิงได้ในที่สุด”
เรื่องโดย: กิตติยา ธนกาลมารวย Team content www.thaihealth.or.th
Update:29-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: กิตติยา ธนกาลมารวย