ดูแลลูกอย่างไร ให้ปิดเทอมนี้ไม่ว้าวุ่น
ช่วงปิดเทอม เด็กๆ ได้มีเวลาว่าง มีความเป็นอิสระ ถึงแม้จะช่วยทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายในช่วงปิดเทอม หลังจากที่ตรากตรำเล่าเรียนกันมาอย่างหนักหนาสาหัส แต่เมื่อมีเวลาที่เป็นอิสระมากไปหรือเกินขอบเขตอาจมีความเสี่ยงที่จะใช้เวลาในทางที่ไม่ถูกไม่ควรได้
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปิดเทอม เด็กๆ ว่างจากการเรียน แต่พ่อแม่ไม่ได้ว่างจากการทำงานไปด้วย ทำให้เกิดโจทย์สำหรับพ่อ แม่ คือ จะเอาลูกไปไว้ที่ไหน ทางเลือกที่พ่อแม่มีอยู่นับว่าไม่น้อย แต่ละทางเลือกมีข้อดีข้อเสียต่างกันถ้าวางแผนให้ดี ปิดเทอมก็เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ดีทีเดียว
วิธีการดูแลลูกในช่วงปิดเทอม
1. พาลูกไปที่ทำงานด้วย ซึ่งมักจะทำได้ตอนลูกยังเล็ก ไปนั่งเล่นนอนเล่นจนหมดวัน อย่างน้อยก็ อยู่ในสายตาของพ่อแม่ ลูกได้เห็นการทำงาน และได้รู้จักเพื่อนร่วมงานของแม่ ในกรณีที่พ่อแม่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง มีร้านค้าที่ต้องดูแล หรือสามารถขออนุญาตผู้บังคับบัญชาให้ลูก ช่วยงานได้ ปิดเทอมก็เป็นโอกาสที่ดี ที่ลูกจะได้เห็นการทำงาน ทำธุรกิจของพ่อแม่ ได้ซึมซับการทำงาน ได้เรียนรู้งาน การได้ช่วยงานพ่อแม่ ทำให้ลูกเกิดความภูมิใจ เข้าใจโลกของคนวัยทำงานมากขึ้น นอกจากรายได้พิเศษแล้ว ยังเป็นการฝึกให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย มีความภาคภูมิใจในตนเอง รวมทั้งเป็นการสะสมประสบการณ์นอกห้องเรียนเพื่อนำไปใช้ในการทำงานในอนาคต
“งานวิจัยความสุขคนไทยพบว่า วัยรุ่นที่ใช้เวลาช่วยงานบ้าน หรือช่วยธุรกิจของพ่อแม่ มีคะแนนความสุขสูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้ทำ พ่อแม่ที่มีร้านค้าหรือธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก จึงควรให้โอกาสลูกได้เรียน รู้ชีวิตงานจริงของพ่อแม่”
2. ส่งลูกไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่ต่างจังหวัด พ่อแม่ที่มีพื้นเพเดิมอยู่ต่างจังหวัดอาจเลือกส่งลูกไป อยู่กับญาติผู้ใหญ่ ไปเที่ยวเล่น ได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ หากมีแผนการใช้เวลาที่ชัดเจน ก็เป็น โอกาสที่ดีในการเรียนรู้สิ่งที่ไม่ได้พบเห็นในเมือง พ่อแม่หลายรายจะเดินทางไปพบลูกในช่วงวันหยุด เพื่อจะได้ใช้เวลากับลูกในที่ธรรมชาติ ถือเป็นการใช้เวลาร่วมกันที่ดีอีกทางหนึ่ง อาจไปถึงขั้นชวนลูกตั้งแคมป์นอนในที่ธรรมชาติ ได้ทั้งความสนุกตื่นเต้น และเรียนรู้ชีวิตในธรรมชาติมากขึ้น
3. สนับสนุนให้ลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม ทั้งที่เป็นในรูปแบบค่าย หรือเข้าทำกิจกรรมสร้างสรรค์เสริมพัฒนาการ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี เพื่อสุขภาพ สร้างวินัย สร้างความอ่อนโยน และช่วยพัฒนาสมองไปในตัว หรือฝึกงานศิลปะ ให้เด็กรู้จักใช้จินตนาการ ศิลปะก่อเกิดสุนทรียภาพ ความเบิกบานใจ เด็กจะได้ซึมซับความประณีต ความงดงาม ส่งผลให้มีจิตใจที่อ่อนโยน ไม่แข็งกร้าว
4. ให้ลูกอยู่ที่บ้าน พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่เลือกทางนี้ มักจะต้องมีญาติ หรือคนที่ไว้ใจอยู่ด้วย เพื่อความปลอดภัย แต่สิ่งที่พ่อแม่ห่วงคือ เวลาที่ไม่มีกฎกติกาอะไร มาควบคุม ลูกจะใช้เวลาอย่างไรบ้างในแต่ละวัน พ่อแม่ควรให้เวลากับลูกบ้างพอสมควรการยอมเสียสละเวลาบ้างเพื่อลูกโดยไม่กระทบต่องานหลักที่ทำอยู่น่าจะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นอีกทั้งเป็นช่วงเวลาแห่งการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย
การที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาให้ลูกบ้างในช่วงปิดเทอมจะเป็นการเพิ่มความหวัง ความสุขให้ลูก ขณะเดียวกันสามารถป้องกันมิให้เด็กไปแสวงหาความสุขในช่องทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การเสพยาเสพติด เป็นต้น
“ไม่ว่าจะเลือกทางเลือกใด สิ่งสำคัญที่สุด คือ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นจะต้องให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย พ่อแม่ต้องเข้าใจลูกของตัวเอง เพื่อจะได้วางเงื่อนไขการใช้เวลา ให้เป็นประโยชน์ที่สุด ไม่ปล่อยโอกาสช่วงปิดเทอม ให้ผ่านไปเฉยๆ เพราะไม่ว่าลูกจะทำอะไรก็ตาม เขากำลังเรียนรู้อะไรบางอย่างเสมอ การให้ลูกมีสิทธิมีเสียง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น จะเป็นการฝึกความรับผิดชอบไปพร้อมกัน” นพ.ประเวช กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต