ดูแลบ้านให้สะอาดระวังโรคฉี่หนู

สธ.ชี้โรคฉี่หนูพบได้ตลอดปี เผยปี 59 พบผู้ป่วยแล้ว 12 รายจาก 9 จังหวัด กำชับเจ้าหน้าที่และ อสม.เฝ้าระวังเข้ม เตือนประชาชนดูแลบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู


ดูแลบ้านให้สะอาดระวังโรคฉี่หนู thaihealth

แฟ้มภาพ


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวว่า โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคประจำถิ่น พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในฤดูฝน ช่วงกรกฎาคม-กันยายนทุกปี ซึ่งเป็นฤดูกาลทำการเกษตรกรรม ช่วงหลังน้ำท่วมและน้ำหลาก มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ผู้ที่ต้องสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานานๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูที่ปนเปื้อนตามแหล่งน้ำและดินที่ชื้นแฉะ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง หรืออยู่ในที่แออัด มีหนูชุกชุม จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แม้จะไม่ได้เดินลุยน้ำท่วมขังก็ตาม


กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนูอย่างใกล้ชิด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชน เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิตที่สำคัญ หากพบผู้ป่วยรายแรกในพื้นที่ ให้รีบดำเนินการสอบสวนโรคในทันที เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง แหล่งแพร่โรค และให้สุขศึกษาเพื่อการป้องกันโรคในผู้ป่วยรายอื่นต่อไป กรณีผู้ป่วยเสียชีวิต ให้ตรวจยืนยันและรายงานการสอบสวนโรคที่สำนักระบาดวิทยาทุกราย เพื่อวางแผนการป้องกันควบคุมโรคต่อไป


"โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อยู่ในฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นแหล่งรังโรคเช่น หนู วัว ควาย เชื้อโรคนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำได้หลายเดือน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 2 วิธี คือจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไป และเชื้อเข้าทางแผล เยื่อบุในปาก ตา หรือแผล ผิวหนังปกติที่เปียกชื้น เชื้อก็สามารถไชผ่านไปได้ หลังได้รับเชื้อประมาณ 7-10 วันจะเริ่มมีอาการ โดยมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก ปวดน่องหากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที" นพ.สุวรรณชัย กล่าว


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้น อาจเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนปอดบวม หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้ออักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ ไตวาย หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลนควรสวมรองเท้าบู๊ท และรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเช็ดตัวให้แห้ง ดูแลบ้านเรือนให้สะอาดกำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ปิดอาหารมิดชิดป้องกันไม่ให้หนูฉี่รดอาหาร ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกอาหาร ส่วนผู้ที่ชำแหละหนูเพื่อนำมาเป็นอาหาร ควรสวมถุงมือและปรุงให้สุกก่อนรับประทาน


ทั้งนี้ ในปี 2558 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 2,176 คนเสียชีวิต 33ราย ใน 67 จังหวัด พบผู้ป่วยทุกภาค จังหวัดที่มีอัตราป่วยมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ยะลา ศีรษะเกษ ระนอง กาฬสินธุ์ และเลย อาชีพที่พบสูงสุดได้แก่ เกษตรกร ร้อยละ 55.8 รองลงมาอาชีพรับจ้าง 17.3 และนักเรียน 9.8 สำหรับในปี 2559 ตั้งแต่ 1 – 11 มกราคม พบผู้ป่วย 12 คน จาก 9 จังหวัด


 


 


ที่มา : MGR Online 

Shares:
QR Code :
QR Code