ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อเป็นหัดเยอรมัน
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
หัดเยอรมัน หรือ Rubella, Three-day measles เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการไข้ และผื่นขึ้นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด ถือเป็นโรคไม่ร้ายแรง ถ้าเกิดกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไป มักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง ที่สำคัญคือ ถ้าเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ในระยะ ๓ เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์ตายหรือพิการได้
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อหัดเยอรมันซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลา (rubella) เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ ของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน โดยการสัมผัสถูกมือผู้ป่วยหรือสื่อกลาง (เช่น ลูกบิดประตู รีโมต โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น) ที่แปดเปื้อนเชื้อแล้วใช้นิ้วมือที่สัมผัสถูกเชื้อนั้น แคะจมูก หรือขยี้ตา เชื้อก็จะผ่านเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจมักพบติดต่อกันในหมู่คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยตามบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน ค่ายทำงาน เป็นต้น ระยะฟักตัวของโรค ๑๔-๒๑ วัน อาการที่พบคือ ผื่นขึ้นทั่วตัวคล้ายหัด ในเด็กเล็กมักมีผื่นขึ้นโดยไม่มีอาการไม่สบายอย่างอื่นที่เด่นชัดมาก่อน บางคนอาจมีน้ำมูกหรือถ่ายเหลวเล็กน้อยก่อนผื่นขึ้น ในเด็กโตและผู้ใหญ่ เริ่มแรกอาจมีอาการไม่สบายเพียงเล็กน้อย (เช่น ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตา เจ็บคอ เบื่ออาหาร คลื่นไส้) หรืออาจมีอาการแบบไข้หวัด (มีไข้ น้ำมูก ไอ ปวดเมื่อย) ซึ่งจะมีอาการเป็นอยู่ ๑-๕ วัน ก่อนผื่นขึ้นและทุเลาเมื่อมีผื่นขึ้นแล้ว ผื่นจะจางหายไปทั้งหมดภายในประมาณ ๓ วัน (ฝรั่งจึงเรียก ว่า หัด ๓ วัน) โดยไม่ทิ้งรอยผื่นสีคล้ำหรือหนังลอกแบบ หัด ยกเว้นในรายที่เป็นผื่นมากอาจลอกแบบขุยละเอียด โดยทั่วไปมักไม่มีอาการคันนอกจากในผู้ใหญ่บางคน อาจมีอาการคันเล็กน้อยได้และอีกหนึ่งอาการแทรกซ้อนที่มักพบคือ อาการปวดตามข้อกระดูก เช่น หัวเข่า ข้อเท้า ข้อนิ้ว และอาการต่อมน้ำเหลืองโตพบได้ตามบริเวณหลังหู หลังคอ หรือบางคนอาจเป็นหัดเยอรมัน โดยไม่มีผื่นขึ้นก็ได้ แต่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้
การดูแลตนเอง
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวเวลามีไข้
2. ถ้าเบื่ออาหารให้ดื่มนม น้ำหวาน น้ำผลไม้ แทน
3. ถ้ามีไข้สูงให้ยาลดไข้ – พาราเซตามอล (ผู้ที่อายุ ต่ำกว่า ๑๙ ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพรินเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการ เกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง)
4. หากมีอาการคัน ทายาแก้ผดผื่นคัน (คาลาไมน์โลชั่น)
การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งนิยมฉีดวัคซีนรวม หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กทุกคน ตั้งแต่อายุ ๙-๑๒ เดือนและฉีดซ้ำอีกครั้ง เมื่ออายุ ๔-๖ ขวบ กลุ่มเด็กหญิงวัยรุ่น หรือหญิงวัยเจริญพันธุ์ถ้ายังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันเดี่ยวๆ หรือวัคซีนรวม (MMR) ให้ ๑ ครั้ง