ดูแลด้วยรักและใส่ใจตามหลัก 3 อ.

                  เป็นเวลากว่า 4 ปีที่แพทย์ได้วินิจฉัยว่า ลุงไพฑูรย์ ขาวมาลา ป่วยด้วยโรคภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ หลังจากที่เมื่อปี 2539 แพทย์ได้ตรวจพบว่า ปลายประสาทสมองของคุณลุงเริ่มเหี่ยวและได้ให้ยาเพื่อชะลออาการ ซึ่งตลอดมาคุณลุงใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอาการเกี่ยวกับโรคนี้ จนกระทั่งราวปี 2553 เริ่มมีอาการควบคุมไม่ดี เหยียบคันเร่งไปชนรถที่จอด


/data/content/26077/cms/e_cfghimorsuvz.jpg          ปัจจุบัน ลุงไพฑูรย์วัย 78 ปี มีป้ารัตนา ขาวมาลา วัย 75 ปี ภรรยาคู่ชีวิตดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดไม่ห่างทุกวัน ขณะนี้ลุงไพฑูรย์สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แม้อาจจะมีบ้างบางช่วงเวลาที่หลงลืมเรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่สำหรับเรื่องราวในอดีตแล้วคุณลุงจดจำได้เป็นอย่างดี


          "ถือเป็นความโชคดีที่สามารถตรวจเจอโรคนี้ได้รวดเร็ว ทำให้อาการป่วยไม่รุนแรง ปัจจุบันสมองของคุณลุงยังดีอยู่ สามารถช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ จะมีหลงลืมบางเรื่องบ้าง เช่น เมื่อวานรับประทานข้าวกับอะไรก็จะจำไม่ค่อยได้ หรือบอกว่ายังไม่ได้กินยาทั้งที่กินไปแล้ว ก็ต้องแก้ด้วยการจัดทำกล่องยาที่ต้องกินในแต่ละวัน เพื่อเป็นการเตือนความจำคุณลุง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ดูแลรู้ว่าคุณลุงแอบกินยาหรือไม่ แต่หากเป็นเรื่องราวในอดีตคุณลุงสามารถเล่าได้ละเอียดอย่างถูกต้อง ต้องหมั่นชวนพูดคุย เพราะสังเกตได้ว่าคุณลุงจะมีความสุขที่ได้เล่า" ป้ารัตนา กล่าว


          การได้รับคำแนะนำจากสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้แต่ละวันของป้ารัตนาดูแลลุงไพฑูรย์ได้เป็นอย่างดี


          ป้ารัตนา บอกว่า การดูแลคุณลุงจะเน้นเรื่อง 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ เรื่องอาหารจะรับประทานของที่มีประโยชน์ ปรุงจากพืชผักผลไม้ที่ปลูกเองที่บ้าน ทำให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย ไร้สารพิษ งดอาหารประเภทเค็ม หวาน มัน รวมทั้งทำน้ำสมุนไพรทั้งกระชายดำ ใบบัวบก ให้คุณลุงดื่มอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการออกกำลังกายได้ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่เกษียณ จนตอนนี้จะให้คุณลุงเดินออกกำลังทุกเย็น จากที่เคยนอนไม่หลับก็ช่วยให้นอนหลับ


          สำหรับอารมณ์จะคอยดูแลไม่ให้เกิดความเครียด หากมีกิจกรรมของชุมชนก็จะเข้าร่วมแทบทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานและมีความสุข ระหว่างวันให้อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ดูละคร และบ่อยครั้งที่ให้คุณลุงทำหน้าที่เป็นวิทยากรบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรือไทยให้กับเด็กๆ ที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เรือไทย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่คุณลุง/data/content/26077/cms/e_bghimpru3456.jpgจัดตั้งขึ้น นอกจากนี้ทุกเช้าจะตักบาตรและก่อนเข้านอนจะสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรมะเพื่อให้จิตใจสงบ และนึกถึงสิ่งที่ได้ทำมาตลอดทั้งวัน


          "สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ประการแรกต้องให้กำลังใจคนป่วย พยายามพูดคุยหยอกล้อสม่ำเสมอ ดูแลเรื่องอาหารให้ได้รับประทานสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่าให้คนป่วยเกิดอาการเครียด ในการดูแลต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องการกิน เดิน นั่ง และนอน และต้องดูแลความสะอาดของคนป่วย อาบน้ำ ทาแป้งให้ตัวหอม ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดสะอ้าน เพราะคนป่วยมักจะปล่อยปละละเลยการดูแลตัวเอง" ป้ารัตนากล่าว


          ท้ายที่สุด ป้ารัตนาแนะนำครอบครัวหรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ว่า ต้องดูแลและเอาใจใส่คนป่วยอย่างดี แม้บางครั้งเหนื่อยหรือรู้สึกว่าไม่ไหว จะต้องมีสติรู้ นึกถึงวันเวลาดีๆ ที่รักกัน และคิดถึงว่าที่ผ่านมาคนป่วยได้ทำสิ่งดีๆ มากมายให้กับเรา ที่สำคัญการได้ดูแลคนป่วยถือเป็นการสร้างบุญจากการที่ได้ช่วยให้คนป่วยมีความสุข.


          บางครั้งเหนื่อยหรือรู้สึกว่าไม่ไหว จะต้องมีสติรู้ นึกถึงวันเวลาดีๆ ที่รักกัน และคิดถึงว่าที่ผ่านมาคนป่วยได้ทำสิ่งดีๆ มากมายให้กับเรา ที่สำคัญการได้ดูแลคนป่วยถือเป็นการสร้างบุญจากการที่ได้ช่วยให้คนป่วยมีความสุข


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code