ดื่มนมตามช่วงวัยสำคัญไฉน
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพโดย สสส.
เลขคนไทยดื่มนมเฉลี่ยเพียงคนละประมาณ 18 ลิตรต่อคนต่อปี หรือเพียงสัปดาห์ละ 2 แก้ว เท่ากับครี่งลิตรถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคนจีนที่ดื่มนม 38 ลิตรต่อคนต่อปี ชาวญี่ปุ่น ดื่มนม 90 ลิตรต่อคนต่อปี ขณะที่คนอเมริกันและยุโรปดื่มนมกันมากถึง 274 ลิตรต่อคนต่อปี ตามหลักโชนาการของการดื่มนม ที่กรมอนามัย แนะนำควรดื่มนมประมาณวันละครึ่งลิตร และนมดื่มได้ทุกช่วงวัย
องค์การอาหารแห่งสหประชาติ (FAO)กำหนดให้วันที่ 1 มิ.ย.ทุกปีเป็นวันดื่มนมโลก ในโอกาสนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ลงนามความร่วมมือกับ "เครือข่ายนมดีดื่มได้ทุกวัน" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมนิสิตเก่าสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กรมอนามัย เพื่อส่งเสริมและสร้างความข้าใจเรื่องการดื่มนมที่ถูกต้อง และรณรงค์ให้คนไทยดื่มนมอย่างน้อยวันละ 1-2 แก้วเป็นประจำสม่ำเสมอ
น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดื่มนมนอกจากจะส่งเสริมสุขภาพที่ดีแล้วยังช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรโคนมไทย ที่ผ่านมาการผลิตนมในประเทศไทยถูกโจมตีเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน แต่มั่นใจได้ว่านมในประเทศไทยมีความปลอดภัย การเลี้ยงโคนมอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวบาล แต่ต้องยอมรับการผลิตนมในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตามหากมีการส่งเสริมการบริโภคนมที่เพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายจะให้คนไทยบริโภคนมเพิ่มขึ้นจาก 18 ลิตร เป็น 25 ลิตรและ 30 ลิตรต่อคนต่อปี ต้องเพิ่มกำลังการผลิต และจะเป็นโอกาสทางอุตสาหกรรมการผลิตนมในประเทศในฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศเออีซี ซึ่งต้องการบริโภคนมเช่นกัน
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถี ชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ในฐานะหน่วยงานที่ผลักดันรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนไทยในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ การจัดตั้งเครือข่ายรณรงค์ การบริโภคนมนับเป็นครั้งแรก โดยมีจุดมุ่งหมายในการ สนับสนุนให้คนไทยได้ดื่มนมตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงอายุนมนอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพยังสามารถดื่มทดแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน อาทิ เครื่องดื่มชาและน้ำอัดลม โดยที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมรณรงค์ ต่าง ๆ เช่น กิจกรรมดื่มนมชมบอลที่มีกลุ่มนักศึกษาในสถาบันการศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือกิจกรรมปาร์ตี้โนแอลในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ เป็นต้น
"ทั้งนี้การบริโภคนมบริโภคได้ตามช่วงวัยทุกวัยมีข้อจำกัด อาทิ นมแม่ดีที่สุดเมื่อแรกเกิดถึง 6 เดือน หลังจากนั้นเสริมด้วยนมวัว ในช่วงวัยเด็กกินนมวันละ 2 แก้ว และดื่มเป็นประจำจนกระทั่งสูงวัยซึ่งในวัยนี้ควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนย และต้องระมัดระวังผลิตภัณฑ์จากนม เช่นนมเปรี้ยว มีน้ำตาลสูงมาก หลังจากนี้จะสื่อสารเรื่องการบริโภคนมที่ถูกต้อง เช่น นมโรงเรียนไม่มีปัญหาเรื่องการขนส่ง แต่ยังพบว่าขาดการสื่อสารที่ดีกับเด็ก ทำให้เด็กละเลยที่จะดื่มคงต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยส่งเสริมการดื่มนมเพื่อเพิ่มความสูง แต่ปัจจุบันพบว่าคนไทยอ้วนขึ้นจึงต้องเปลี่ยนสโลแกนรณรงค์ใหม่คือสูงสมวัย และนมก็เป็นอาหารที่เหมาะสมเพราะนมมีแคลเซียม ช่วยการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้สูงขึ้นดั่งเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นทำแล้วประสบความสำเร็จ คนญี่ปุ่นสูงขึ้น
ด้าน อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวเสริมว่า นมเป็นอาหารที่ให้แคลเซียมสูงและร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ได้มากกว่าการรับประทานแคลเซียมที่เป็นเม็ด ที่ราคาต่อเม็ดอยู่ที่ประมาณ 40 บาท เพราะในนมมีวิตามินดีช่วยดูดซึมนำแคลเซียมไปบำรุงกระดูกได้ และกระดูกที่แข็งแรงจะมีผลเมื่อสูงวัยไม่เป็นโรคกระดูกเสื่อมในอนาคต เช่นเดียวกับการกินผักใบเขียวซึ่งมีแคลเซียมเช่นเดียวกัน แต่จะกินให้ได้เท่ากับนม 1-2 แก้วต้องบริโภคผักถึง 4 ทัพพี ดังนั้นการดื่มนมทำให้ร่างกายได้แคลเซียมสูงสุด
นายวิเชียร ผลวัฒนสุข ประธานเครือข่ายนมดีทุกวัยดื่มได้ทุกวัน กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มนมของคนไทยประจำปี 2562 โดยสวนดุสิตโพล พบว่าปัจจุบันเยาวชนไทยอายุ 13-20 ปี มีการบริโภคนมลดลงกว่าครึ่งจากสัดส่วน 89% เหลือเพียง 44% เมื่อเทียบกับเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษา ส่วนในกลุ่มผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไปนั้น พบว่ามีสัดส่วนที่ ไม่ดื่มนมโคเลยถึง 1 ใน 4 จากผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจ โดยกลุ่มผู้ที่ไม่บริโภคนมโคนั้นหันไปดื่มนมถั่วเหลือง 43% เครื่องดื่มกาแฟ 22% และนมเปรี้ยว 14% ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดื่มนมและความไม่มั่นใจในคุณภาพของน้ำนมโค
เรื่องของการดื่มนมส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทยในอนาคต
…นมยังเป็นอาหารชั้นดีที่ต้องดื่มทุกวัน