ดัน 5 สมุนไพรเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

ช่วยประชาชนมั่นใจ กำหนดมาตรฐานเดียวทั่ว ปท.

 

 ดัน 5 สมุนไพรเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

          นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการตรวจเยี่ยมกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่า กรมแพทย์แผนไทยฯ จะต้องร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการจัดทำสัญลักษณ์ที่แสดงถึงคุณภาพสมุนไพรชนิดนั้นๆ ว่าผ่านมาตรฐานตามที่กรมกำหนด เพื่อให้สมุนไพรมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจและเชื่อมั่นในคุณภาพของสมุนไพรไทยมากขึ้น

 

          โดยวางขายในร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ หรือจัดตั้งศูนย์กลางในการจำหน่ายสมุนไพรโดยเฉพาะ เพราะปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยที่สนใจจะซื้อสมุนไพรแต่ไม่รู้จะซื้อที่ไหน สมุนไพรยังหาซื้อได้ยากจึงเข้าไม่ถึงประชาชน

 

          สำหรับการแพทย์ทางเลือก กรมควรรวบรวมข้อมูลของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้าน มาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ เช่น โรงพยาบาลไหนเก่งเรื่องการฝังเข็มมากที่สุด เป็นต้น จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับบริการมากขึ้น

 

          นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในปี 2552 กรมจะเสนอสมุนไพร 5 ตัว เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่

 

          1. เพชรสังฆาต แก้ริดสีดวงทวาร

 

          2. สหัสธารา แก้ปวดเมื่อย

 

          3. บัวบก (ยาเม็ด) แก้รักษาแผล ช่วยความจำในผู้สูงอายุ

 

          4. เถาวัลย์เปรียง แก้ปวดเมื่อย

 

          5. มะระขี้นก ลดน้ำตาลในเลือด

 

 

          โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองใช้ในผู้ป่วยให้ครบอย่างน้อย 1 พันคนขึ้นไป เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผล คุณภาพและผลกระทบจากการใช้ ตามข้อกำหนดของสมุนไพรที่จะเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ คาดว่าอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนจึงจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติได้

 

          “ขณะนี้ในบัญชียาหลักแห่งชาติมีสมุนไพรบรรจุอยู่แล้ว 19 ตัว อาทิ ฟ้าทลายโจร พญายอ และขมิ้นชัน เป็นต้น โดยกรมตั้งเป้าว่าในแต่ละปีจะต้องมีสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ 5 ตัว ซึ่งนอกจากสมุนไพร 5 ตัวข้างต้นที่จะเสนอในปี 2552 แล้ว ยังมีสมุนไพรอีก 5 ตัว ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมนำเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติในปีต่อไป ได้แก่ 1.รางจืด ขับสารพิษ แก้ร้อนใน 2.หญ้าหนวดแมว ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในไตขนาดเล็ก 3.ยาธาตุอบเชย แก้อาหารไม่ย่อย 4.ยาตำรับริดสีดวงทวาร และ 5.ยาบำรุงโลหิต” นพ.นรากล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 10-03-52

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code