ดัน “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็นจริง

ความหวังแรงงานนอกระบบไทย

 

ดัน “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็นจริง 

          เป็นเวลากว่า 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 จนถึงวันนี้ ที่ สุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ประเด็นหลักในเรื่องรัฐร่วมจ่ายการขยายสิทธิประโยชน์จาก 3 กรณี (คลอดบุตร ตาย และพิการ) เป็น 5 กรณี โดยเพิ่มการชดเชยรายได้จากการเจ็บป่วยและชราภาพและขอเงินประเดิม 2,000 บาท สมทบให้แก่แรงงานนอกระบบในปีแรก ให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากมีเวทีวิชาการรับฟังความเป็นไปได้จากการวิจารณ์ของ ดร.อัมมาร สยามวาลานักวิชาการกิติคุณ และนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 30 เมษายน 2552

 

          จากการตอบรับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เสนอเรื่องในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมาและได้ส่งความตั้งใจที่จะตามต่อเรื่องอย่างใกล้ชิดสำนักงานประกันสังคม ในฐานะเจ้าของเรื่องและผู้ดำเนินการได้เร่งการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการศึกษาประมาณการงบประมาณที่รัฐต้องสนับสนุนการเปิดลงทะเบียนให้แรงงานนอกระบบเข้าสมัคร การกำหนดแผนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรองรับกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ

 

          แต่หลังจากนี้ไป การผลักดันให้เกิดกองทุนประกันสังคมแรงงานนอกระบบให้เป็นจริง จะอยู่ในมือของใคร?

 

          เวลากว่า 12 ปี ที่แรงงานนอกระบบใช้เวลาในการผลักดันให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันสังคม ขณะนี้มีความคืบหน้าก้าวแรกที่มีการแก้ไขสิทธิประโยชน์เพิ่มจาก 3 กรณีเป็น 5 กรณีผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและกำลังรอความหวังในผลของก้าวที่สอง จากข้อเสนอรัฐร่วมจ่ายจำนวนครึ่งหนึ่ง

 

          สุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ได้เล่าให้ฟังว่า “พวกเราเรียกร้องที่อยากจะเข้าประกันสังคมมา ตั้งแต่ปี 2540 ทั้งจัดทำข้อเสนอรณรงค์ในเวที ยื่นเรื่องให้กับตัวแทนของนายกรัฐมนตรีมาหลายสมัย จนถึงสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีโอกาสนำข้อเสนอประกันสังคมของแรงงานนอกระบบให้กับท่านนายกฯ ทั้งหมดในปีนี้ถึง 4 ครั้ง

 

          นอกจากนี้ได้จัดทำใบแสดงความคิดเห็นที่รวบรวมมาจากพี่น้องแรงงานนอกระบบในภูมิภาคจำนวนกว่า 6,500 รายชื่อ มาจากแรงงานในภาคเกษตรผู้รับงานไปทำที่บ้าน แท็กซี่ ฯลฯ เพื่อแสดงหลักฐานถึงความตั้งใจและความสนใจจะเข้าร่วมการจ่ายสมทบในประกันสังคมมาตรา 40 จากการปรับสิทธิประโยชน์ใหม่ เครือข่ายฯ ได้นำข้อมูลให้กับที่ปรึกษา รมว.กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

 

          ในส่วนของกระทรวงแรงงานที่เครือข่ายได้ตามเรื่องต่อ ปรากฏว่ามีจดหมายจากกระทรวงแรงงานที่รับข้อเสนอจากแรงงานนอกระบบและกำลังทำหนังสือเวียนถึงกระทรวงต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นและชี้แจงเหตุผลต่อเรื่องนี้กลับมาที่กระทรวงแรงงาน พวกเรารออย่างมีความหวังว่าเรื่องนี้จะได้รับการเดินหน้าต่อจากกระทรวงแรงงานต่อไป”

 

          นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงาน ฝ่ายการเมือง ได้ให้ข้อมูลถึงผลการพิจารณาข้อเสนอสมัชชาแรงงานนอกระบบ นโยบายประกันสังคมมาตรา 40 วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 จากการประชุมคณะรัฐมนตรีสรุปว่า

 

          1. สำนักงานประกันสังคมได้ศึกษาและกำลังดำเนินการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ และการจ่ายเงินสมทบ

 

          2. ข้อเสนอให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบเป็นข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงแรงงานได้รวมอยู่ในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

          ทั้งนี้ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งร่างแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว (โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอโดยรัฐบาลที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้มีหนังสือแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งหากเห็นควรดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปให้มีหนังสือแจ้งยืนยันมาซึ่งขณะนี้ยังมิได้รับหนังสือตอบผลการพิจารณา)

 

          3. กรณีข้อเสนอให้รัฐบาลประเดิมร่วมจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 จำนวน 2,000 บาท สำหรับแรงงานนอกระบบในปีแรก (ปี 2552) เห็นควรเป็นการพิจารณาในระดับนโยบายเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ

 

          นายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสงให้ความเห็นว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความตั้งใจและมีความพร้อมที่จะเร่งดำเนินการ เพียงรอรับการตัดสินใจจากกระทรวงการคลังและท่านนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการต่อ เพราะเป็นเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณกลางของประเทศ ซึ่งงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการจ่ายเงินสมทบจะอยู่หมวดในนโยบายโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคคลกรรัฐ

 

          จากความเชื่อมโยงงบประมาณ 8 แสนล้านบาทที่กระทรวงการคลังได้นำเสนอผ่านสภาฯ เมื่อไม่นานนี้ แบ่งออก 3 ส่วนหลัก ส่วนแรก 2 แสนล้านบาทมาอุดหนุนการชดเชยรายได้ภาษีของรัฐที่หายไป ส่วนที่สอง 2 แสนล้านบาทเป็นการสร้างสาธารณูปโภค ส่วนที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทจะเป็นงบประมาณประจำปีในปี 2553

 

          ดังนั้นจึงบทสรุปว่านโยบายการสานฝันของกองทุนประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ จากแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคน หรือคิดเป็นแรงงาน 60% ของกำลังแรงงานทั้งหมดที่รอคอยกันมากกว่า 12 ปี จะเป็นจริงได้อยู่ที่การให้ความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในปี 2553 คำตอบเรื่องนี้จึงเปิดเผยว่าแล้วว่าอยู่ในมือใคร?

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 30-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

Shares:
QR Code :
QR Code