ดันเมืองสื่อสร้างสรรค์ (3 ดี) เป็นวาระแห่งชาติ
ดันเมืองสื่อสร้างสรรค์ (3 ดี) เป็นวาระแห่งชาติ
ห้อง ‘เมือง 3 ดี วิถีสุข : สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี’ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ศสส.), แผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสอ.) และแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดเวทีเสวนา ‘เมือง 3 ดีวิถีสุขทุกคนร่วมสร้าง (ได้)’
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า ถ้าคนในสังคมไทยร่วมกันทำ 3 เรื่องดีๆ ได้แก่ 1. สื่อดี จะทำอย่างไรให้สื่อที่อยู่รอบตัวเราดี สร้างสรรค์ และสร้างปัญญา 2. พื้นที่ดี โดยทุกคนสามารถมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกัน และ 3. ภูมิดี โดยเชื่อว่าหากมีสื่อและพื้นที่ดีแล้ว ทุกคนก็จะมีภูมิที่ดี ไม่เฉพาะภูมิคุ้มกันเท่านั้น แต่รวมถึงภูมิปัญญาด้วย ก็จะทำให้เราเห็นตัวตนของเราและชุมชนได้
ขณะที่เมื่อมองไปยังต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ แม้จะมีพื้นที่เล็กกว่าไทย แต่กลับสามารถจัดสรรพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นประเด็นจึงมิได้อยู่ที่พื้นที่หรืองบประมาณว่ามีเท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่กับการรวมตัว เพื่อร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งไทยยังขาดตรงจุดนี้ เช่น พื้นที่ว่างใต้ทางด่วนในกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์สูงถึง 42% ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมได้ ดังนั้นจึงเสนอให้ชุมชนรวมตัวกันพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว และเมื่อสภาพแวดล้อมดีก็จะสามารถสร้างสุขได้
ด้าน เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนใช้เวลาอยู่กับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือนานวันละ 3-7 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นสื่อที่ไม่ดีดังกล่าวก็เข้ามาคุกคามชีวิตของเรามากขึ้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้อง ‘ขจัดสื่อร้ายขยายสื่อดี’ และใช้สื่อที่ดีสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชน
นอกจากนี้ยังมีความหวังในความพยายามผลักดันพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะเข้าสู่วาระ 2 ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาภายในปี 2557 จะสามารถเข้ามาสนับสนุนโครงการเมือง 3 ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“เมือง 3 ดีเกิดขึ้นได้แน่นอน นักปราชญ์หลายคนบอกว่า หากเราจะเปลี่ยนแปลงโลก ไม่ต้องใช้คนเยอะ แค่คนสองคนก็สามารถเปลี่ยนแปลงและสร้างแรงบันดาลใจจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ” ผู้จัดการ สสย. ทิ้งท้าย
ภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนา ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องผ่าน รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะ 5 ถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ความว่า “ภาคีภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันศาสนา ขอสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีพลังในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์สื่อดี ยกย่องเชิดชูครูภูมิปัญญา และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นต้นแบบของการศึกษาเรียนรู้
“นอกจากนี้ยังปรารถนาที่จะเห็นความจริงใจและความจริงจังของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเมืองสื่อสร้างสรรค์ โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ มีแผนแม่บทยุทธศาสตร์นโยบายในการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม และให้อปท.ขับเคลื่อนเมืองสื่อสร้างสรรค์ในแผนพัฒนาตำบล มีการจัดสรรงบประมาณและมีรูปธรรมการดำเนินงานที่ชัดเจนอีกด้วย”
ที่มา : จดหมายข่าว “มหามวลมิตร” เวทีครบรอบ สสส. 12 ปี ฉบับที่ 1