ดันวาระแห่งชาติเข้มหนัง-ละครรุนแรง
เสริมความเสมอภาคชาย-หญิง
เครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้าบุก วธ. ยื่น 3 ข้อเรียกร้องให้คุมเข้มหนัง ละครรุนแรง ตบตี ข่มขู่ คุกคามทางเพศ ฉากดื่มเหล้า ด้านรองปลัด วธ. เผยเตรียมดันปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายชินพัฒน์ ต่อรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้ายุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก พร้อมด้วยนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง นำสมาชิก 40 คนยื่นจดหมายเปิดผนึก พร้อมแสดงละครล้อเลียน เรียกร้องให้ วธ. ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในละครและภาพยนตร์ เนื่องในเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยมีนายปรารพ เหล่าวานิช รองปลัด วธ.รับมอบหนังสือ
นายชินพัฒน์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายฯ เสนอข้อเรียกร้อง 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ให้เข้มงวดกับผลงานละคร ภาพยนตร์ ที่จงใจสื่อมิติความรุนแรง การกดขี่ทางเพศ ดื่มเหล้าทุบตี จนกลายเป็นการบ่มเพาะ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อเด็กและผู้คนในสังคม 2. ขอให้ส่งเสริมภาพยนตร์ละคร และรายการโทรทัศน์ รวมถึงมติทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่สนับสนุนความเสมอภาคหญิงชาย และ 3. สร้างพื้นที่ ช่องทางสำหรับสาธารณชนเพื่อใช้ร้องเรียนหรือเสนอแนะสื่อต่างๆ ทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม
นายชินพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ความรุนแรงก้าวร้าว วัฒนธรรมผู้ชายเป็นผู้ใหญ่ มีการเผยแพร่ผ่านละคร ภาพยนตร์เกือบทุกช่องโดยจากสถิติมูลนิธิเพื่อนหญิงปี 2552 พบว่ามีความรุนแรง 1,500 ราย 70% เป็นความรุนแรงในครอบครัว 10% ความรุนแรงทางเพศ ที่เหลือเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ มีสถิติของศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2552 พบว่า มีความรุนแรงเกิดขึ้นกว่า 2 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงในครอบครัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมความรุนแรงได้เลียนแบบจากสื่อเท่านั้น แต่เป็นการผ่านครอบครัว สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย และอยากให้ติดตามประเมินผลการจัดเรตติ้งมา 2 ปีว่าได้ผลหรือไม่ หากไม่ได้ผลจะต้องกลับไปใช้มาตรการให้ฉายเนื้อหารุนแรงหลัง 4 ทุ่ม หรือสุดท้ายคือห้ามฉาย
นายปรารพ กล่าวว่า ยินดีรับข้อเสนอทุกข้อเพื่อเสนอต่อปลัด วธ. และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติเพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ จะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมกันหามาตรการควบคุมการใช้พฤติกรรมความรุนแรงและภาพความไม่เหมาะสม ในละคร และภาพยนตร์ ไทยด้วย ทั้งนี้ มีแนวคิดให้ผู้ประกอบการประเมินตนเอง เพื่อจะได้ทราบว่าละครที่ได้ผลิตสู่สาธารณชนมีความเหมาะสมมากเพียงใดและน่าจะจัดลำดับภาพยนตร์ ละคร ไทย น้ำดี โดยให้ประชาชนร่วมกันโหวต
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update : 15-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่