ดันถุงยางอนามัย ลดโรคติดต่อ-ท้องไม่พร้อม

          ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือคุมกำเนิดที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยทัศนคติทางลบเกี่ยวกับการใช้ถุงยางว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่เพลิดเพลิน และไม่เป็นธรรมชาติ ปัจจัยดังกล่าวมีผลให้ชายไทยไม่ตั้งใจใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ปัจจุบันพบว่าประชาชนเป็นโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น


 /data/content/25974/cms/e_aeijntxyz145.jpg         เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพ มหานคร นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่อง "จัดทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2558-2565" เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้ถุงยางเป็นประจำ ในการป้องกันและควบคุมโรค


          นายแพทย์สมศักดิ์ เผยว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังมีปัญหาการแพร่กระจายของโรคเอดส์และการท้องไม่พร้อมเพิ่มสูงขึ้น เกิดจากทัศนคติของคนไทยที่มองว่าคนใช้หรือพกถุงยางอนามัยเป็นคนไม่ดี รวมถึงผู้ใช้เองก็รู้สึกว่าการสวมใส่ถุงยางนั้นไม่เป็นธรรมชาติ ทั้งที่ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญ และยอมรับว่าการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการใช้ถุงยางอนามัย แม้ทางกรมควบคุมโรคจะมีการรณรงค์และให้ความรู้แก่กลุ่มเสี่ยงหลัก อย่างกลุ่มชายรักชาย กลุ่มอาชีพบริการ รวมไปถึงกลุ่มวัยรุ่น แต่ปริมาณการใช้ถุงยางอนามัยก็ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร


          ในช่วง 5 ปีหลังนี้พบว่า ประชาชนเป็นโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เช่น หนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส และเอชไอวี รวมทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น ปัญหาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น แต่ใช้ถุงยางอนามัยเพียง 30-40% เท่านั้น


          กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงได้บูรณาการร่วมกับกรมอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม จัดทำ "ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2558-2562" เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยยุทธศาสตร์ฉบับนี้จะสนับสนุน 3 นโยบายระดับชาติ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ (พ.ศ. 2557-2559) นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2553-2557) และยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ถือเป็นยุทธศาสตร์ต้นแบบในระดับเอเชียและระดับโลก เพราะยังไม่เคยมีประเทศใดมียุทธศาสตร์นี้อย่างชัดเจน


          นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์เริ่มใช้ปี 2558-2562 ที่จัดทำขึ้นนี้มีลักษณะของการบูรณาการรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้การใช้ถุงยางอนามัย ถุงอนามัยสตรี และสารหล่อลื่น เป็นวิถีชีวิตโดยปกติของประชาชน สามารถป้องกันปัญหาหลายด้านพร้อมๆ กัน คือ ป้องกันการตั้งครรภ์ โรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งยังลดความเสี่ยงจากมะเร็งที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์


          ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การส่งเสริม ความยอมรับ และลดอคติเกี่ยวกับถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น 2.การส่งเสริมการเข้าถึง และการใช้ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น 3.การ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ และการควบคุมคุณภาพถุงยางอนามัย 4.การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย และ  5.การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานส่ง เสริมการใช้ถุงยางอนามัย


          "การรณรงค์ได้เริ่มดำเนินการก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้มีการส่งเสริมความรู้ สร้างเสริมทักษะชีวิตให้กับเด็กนักเรียน จัดตั้งจุดบริการถุงยางอนามัยในสถานที่ต่างๆ จัดจุดบริการให้คำปรึกษา รักษาโรคทั้งแบบตั้งรับในสถานพยาบาลและเชิงรุกลงไปยังพื้นที่หมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งในปัจจุบันคนไทยทุกคนสามารถเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง หากประชาชนสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 0-2590-3217 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422" นายแพทย์สุเมธ กล่าวด้าน


          นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า แม้ผู้ชายยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการใช้ถุงยางอนามัย แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของหญิงบริการทางเพศ พบว่า นอกจากถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ ป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยให้มีความสุขในการร่วมเพศมากขึ้น แต่ต้องใช้สารหล่อลื่นเข้ามาช่วย จุดนี้ถือว่าเป็นแนวคิดหนึ่งในการผลักดันให้มีถุงยางอนามัย 2 ระดับ คือ 1.ระดับที่มีสารหล่อลื่น ตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมต่อ 1 ชิ้น และ 2.ประเภทที่เพิ่มปริมาณสาร หล่อลื่นให้มากขึ้นกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งอาจจะมีราคาสูงขึ้นบ้าง แต่อย่างน้อยจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้นโดยไม่เป็นปัญหา และเพิ่มอรรถรสระหว่างมีเพศสัมพันธ์อีกด้วย 


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code