ช่วยเด็กใต้ไอคิวสูงด้วยอาหารและโภชนาการ
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 54 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สสส. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้บริหาร “ช่วยเด็กใต้ไอคิวสูงด้วยอาหารและโภชนาการ” ที่ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้บริหาร “ช่วยเด็กใต้ไอคิวสูงด้วยอาหารและโภชนาการ” ตามโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย : ภาคใต้ โดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ประกอบด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดสงขลา
รศ.พ.ญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานโครงการฯ กล่าวว่า ผลการสำรวจไอคิวเด็กนักเรียนไทยของกรมสุขภาพจิตในปีนี้(2554) พบว่าไอคิวของเด็กไทยต่ำกว่าระดับมาตรฐานสากลเฉลี่ยอยู่ที่ 98.59 เด็กเกือบครึ่งหนึ่ง 48.5 % มีไอคิวอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 100 ส่วนที่กรุงเทพมหานครไอคิวเฉลี่ย 104.5 ภาคกลางไอคิวเฉลี่ย 101.29 ภาคเหนือไอคิวเฉลี่ย 100.11 ภาคใต้ไอคิวเฉลี่ย 96.85 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือไอคิวเฉลี่ย 95.99 ซึ่งที่จังหวัดสงขลาไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.64 อยู่ในกลุ่มต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากล อยู่ในอันดับที่ 41 ของประเทศ และอันดับที่ 5 ของภาคใต้
สำหรับการมีไอคิวต่ำดังกล่าว ทางองค์การยูนิเซฟได้ระบุว่า อาจเกิดจากภาวะทุพโภชนาการ การขาดธาตุไอโอดีน โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และการขาดการเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่กระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้จัดให้มีกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในกระบวนการการดูแลเด็กแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินการกับเด็กได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อเป็นการพัฒนาไอคิวทางสมองและพัฒนาการทางด้านต่างๆให้กับเด็กแต่ละช่วงวัยได้ดีขึ้น อย่างเช่น ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนจะต้องมีการดูแลในเรื่องของอาหารที่ได้มาตรฐาน ทั้งอาหารกลางวัน อาหารว่าง นม เครื่องดื่ม ลดอาหารหวาน มัน เค็ม โดยเน้นให้เด็กรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ปัจจัยต่างๆ รอบศูนย์ฯ จะต้องปลอดน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบ มีการบูรณาการการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการในประสบการณ์เรียนรู้หรือหลักสูตร รวมทั้งกิจกรรมเสริมหลักสูตร นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังและประเมินภาวะโภชนาการเด็กอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งส่งคืนข้อมูลให้กับผู้ปกครองเด็กด้วย เพื่อการร่วมกันในการพัฒนาไอคิวทางสมองของเด็กต่อไป
ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์