ช่วยเด็กจมน้ำ ห้ามอุ้มพาดบ่า

/data/content/23484/cms/eklotv234789.jpg

         สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนย้ำประชาชนช่วยเด็กจมน้ำ ห้ามอุ้มพาดบ่ากระแทกน้ำออก ชี้ทำเด็กอาเจียนและสำลัก การช่วยเหลือล่าช้า เด็กขาดอากาศหายใจนานขึ้น แนะนำประชาชนศึกษาวิธีปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่ถูกต้อง ลดโอกาสการเสียชีวิต

         ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของทุกสาเหตุ ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เนื่องจากตรงกับช่วงปิดภาคการศึกษาและช่วงฤดูร้อน จากการรายงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าในช่วง 3 เดือนนี้ ประเทศไทยมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 453 คน แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ จากการประเมินผลเมื่อปี 2556 พบว่า ประชาชนร้อยละ 92.6 เข้าใจว่าเมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการอุ้มพาดบ่าและกระแทกเอาน้ำออก ซึ่งความจริงแล้วการกระทำดังกล่าวเป็นการปฐมพยาบาลที่ผิดวิธี เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยจมน้ำ

          “การปฐมพยาบาลที่สำคัญที่สุดสำหรับคนจมน้ำคือ การช่วยให้ผู้ประสบภัยหายใจได้ให้เร็วที่สุด แต่การอุ้มพาดบ่า วิ่งรอบสนาม กดท้อง หรือจับเด็กห้อยหัว เพื่อเขย่าและกระแทกเอาน้ำออก เป็นการปฐมพยาบาลที่ผิดวิธี เพราะการพยายามเอาน้ำออกจากตัวเด็ก ไม่มีความจำเป็นและอาจก่อให้เกิดเผยเสียได้ เพราะเด็กจะอาเจียน เกิดการสำลัก และจะทำให้การช่วยเหลือเด็กล่าช้าลงไป ซึ่งมีผลทำให้เด็กขาดอากาศหายใจนานขึ้น มีโอกาสในการรอดชีวิตน้อยลง การเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนรวมถึงหน่วยงานในท้องถิ่นควรให้ความสำคัญ และฝึกปฏิบัติเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจริงได้” ดร.นพ.สุวิชกล่าว

         ดร.นพ.สุวิชกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพบเด็กจมน้ำ ให้รีบโทรศัพท์แจ้งที่สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด จากนั้นเริ่มปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยจับเด็กนอนบนพื้นที่ราบแห้งและแข็ง ใช้มือทั้ง 2 ข้างจับไหล่เขย่า พร้อมเรียกดังๆ เพื่อตรวจดูว่าเด็กรู้สึกตัวหรือไม่ กรณีรู้สึกตัว ให้เช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าและห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และนำส่งโรงพยาบาล

         กรณีเด็กไม่รู้สึกตัว ให้ช่วยหายใจโดยเปิดทางเดินหายใจ ด้วยวิธีการกดหน้าฝาก เชยคาง เป่าปาก โดยวางปากครอบปากผู้ป่วย บีบจมูก เป่าลมเข้าให้หน้าอกผู้ป่วยยกขึ้น เป่าปาก 2 ครั้ง และกดนวดหัวใจ ด้วยการประสานมือและวางส้นมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก แขนตั้งฉาก กดหน้าอกให้ยุบประมาณ 1-1.5 นิ้ว ทำเช่นนี้ 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง จนกว่าเด็กจะรู้สึกตัวและหายใจได้เอง เมื่อหายใจได้แล้ว ให้จับเด็กนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปด้านหลังเพื่อให้นำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมเด็กเพื่อให้เกิดความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และนำส่งโรงพยาบาลในทุกกรณี หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

 

 

         ที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา

 

Shares:
QR Code :
QR Code