ชู 4 ปัจจัย เตรียมตัวสูงอายุอย่างมีคุณภาพ
พม. ชู 4 ปัจจัยคุณภาพผู้สูงวัย ปรับทัศนคติสังคม-เร่งพัฒนากลุ่มอยู่ติดบ้าน
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชู 4 ปัจจัย เตรียมตัวสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ปรับทัศนคติสังคม ผู้สูงอายุมีคุณค่า คุณประโยชน์ ทำงานได้ ไม่ไร้ค่า พร้อมเร่งพัฒนากลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน ออกสู่สังคม ก่อนเสี่ยงติดเตียง ขอรัฐส่งเสริมผลิตผู้บริบาล บทบาทสำคัญ ช่วยผู้สูงอายุกลับมามีสุขภาพกาย ใจดี
โครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Leadership for Social Change) รุ่นที่ 4 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้เก็บข้อมูลเชิงลึก และร่วมศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อจะนำไปสู่การทำโครงการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราจังหวัดภูเก็ตให้ได้มาตรฐานต่อไป โดยมี นายอนุสันต์ เทียนทอง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เยี่ยมเยือนกลุ่มผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
นายอนุสันต์ กล่าวว่า จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีประชากรเกิน 10% ขึ้นไปที่องค์การอนามัยโลกระบุ และข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2564 จะมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% และปี 2574 จะเพิ่มเป็น 25% หรือประมาณ 6 ล้านคนของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจและน่าตกใจไปพร้อมกัน มี 3 หลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง โดยกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดคือผู้สูงอายุติดบ้าน ขาดการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน ไม่ได้ออกมาสู่สังคม ส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว และมาเป็นชุดของโรค ทั้งไขมันความดัน เบาหวาน หัวใจ
"การเตรียมเป็นผู้สูงอายุในวัย 58-59 ปี ไม่ทันต้องเตรียมตั้งแต่วัยเด็ก เยาวชน โดยเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่อง คือ 1.สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง จิตใจดี 2.วินัยในเรื่องของการออม 3.สังคม ต้องออกมาสู่สังคม แลกเปลี่ยนพูดคุย สร้างคุณค่าในตนเอง หัวใจหลักของงานผู้สูงอายุจะสร้างให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ต้องมีปัจจัย 4 ข้อ ดังนี้ 1.ผู้นำองค์กร 2.ชุมชน 3.การมีส่วนร่วมของประชาชน และ4.ภาคเครือข่าย" นายอนุสันต์ กล่าว
น.ส.สุดา ตันวุฒิมงคล ผู้อำนวยการโรงเรียนภูเก็ตรักษ์บริบาล ภาคีเครือข่ายคนสำคัญ กล่าวว่า ต้องมีการพัฒนารูปแบบในการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุให้มีศักยภาพที่จะดูแลตนเองได้ ต้องทำให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี จึงเปิดโรงเรียนภูเก็ตรักษ์บริบาล เพื่อผลิตผู้บริบาลหรือผู้ช่วยเหลือคนไข้ ซึ่งเปิดสอนมากว่า 10 ปี ผลิตเด็กแล้ว 54 รุ่น รุ่นละ 10 คน เด็กทุกคนที่มาเรียนได้งานทำถูกจองตัวไว้แล้วทุกคน รายได้ต่อเดือนประมาณ 2 หมื่นบาท โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการสอนเด็กและเยาวชนให้ไปทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
ด้าน นางจิรนันท์ เจียมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุบ้านภูเก็ตและผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รุ่นที่ 4 กล่าวว่า ปัจจุบันสถานสงเคราะห์คนชราถูกปรับเปลี่ยนภารกิจตามการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ พม.ให้เป็นศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้มีภารกิจครอบคลุมถึงการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในชุมชน และการเชื่อมประสานท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุเพื่อมุ่งสู่หน่วยงานต้นแบบการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ