ชู!! มิติจิตใจ จุดเปลี่ยนวงการสาธารณสุขไทย
พัฒนาสุขภาพใจควบคู่การรักษาทางการแพทย์
ประสบการณ์ดีควรค่าแก่การถ่ายทอดต้องไม่สิ้นสุดเพียงวงสนทนา ด้วยเรื่องที่ถูกบอกเล่า ล้วนมีคุณค่ามหาศาลและสร้างพลังใจกว่าใครจะคาดคิด ถึงจะก้าวด้วยทีท่าไม่รีบเร่ง แต่เมื่อขีดเส้นลากจากจุดเริ่มต้น ถึงวันนี้ ราว 2 ปีแล้ว ที่โครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน (sha)” ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุขในแบบที่อยากเห็น
อย่างที่รู้กันว่าในหลักการที่ว่าด้วยการพัฒนามิติของจิตใจควบคู่กับมิติทางการแพทย์ ที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วางไว้ร่วมกันนั้นไม่ง่ายเลยในความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม แม้ดูเป็นเรื่องนามธรรม หากเมื่อผนวกมุมมองของคนทำงานสุขภาพในโครงการ sha ที่เห็นว่าการสาธารณสุขที่ดีต้องมองให้ลึกไปกว่าอาการเจ็บป่วย รวมเข้ากับความมุ่งมั่น จะพบว่าในความยาก ที่ชวนท้อถอยกลับมีเรื่องราวดีๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจที่จับต้องได้กลายเป็นเรื่องเล่าดีๆ ที่น่าประทับใจ และน่าบอกต่อ
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สสส. บอกว่า ในระบบงานปกติ เราไม่ได้มานั่งเล่าเรื่องกัน แต่พอได้ไปสร้างปาฏิหาริย์บางอย่างเกิดขึ้น ช่วยชีวิตคนหนึ่งคนไว้ พอให้เขาได้มีโอกาสได้เล่า มันกลับมาหล่อเลี้ยงเขา มันไม่ได้ทำให้งานเบาลง แต่ทำให้มีความสุขมากขึ้น ยิ่งเฉพาะกับการถ่ายทอดผ่านการเขียน ที่สร้างบรรยากาศคล้ายกับการได้หยุด และย้อนเวลาไปยังเรื่องเหล่านั้น ประหนึ่งพินิจพิเคราะห์ทุกรายละเอียดอย่างช้าๆ
เหมือนเรื่องของ คุณวิไลรัตน์ ปิตุยะ พยาบาลโรงพยาบาลขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร หนึ่งในทีมแพทย์ที่ครั้งหนึ่งได้มีส่วนร่วมรักษาหญิงชรา ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน และเกือบจะต้องตัดขาทิ้งจากบาดแผลฉกรรจ์ อันดูเหมือนไม่มีวันจะรักษาได้สำเร็จ เธอสะท้อนเรื่องราวผ่านงานเขียนที่ชื่อ “ความฝัน วันวาน” ซึ่งถูกเผยแพร่ในการประชุม sha conference & contest เมื่อเร็วๆ นี้
“แทบทุกวัน จะมีเสียงร้องครวญครางให้ได้ยินเสมอ เราทุกคนจะรู้ดีว่า นั่นคือช่วงเวลาที่คุณหมอทำแผลให้กับคุณยายพร หญิงชราร่างผอม ผิวคล้ำ ที่ตัดสินใจย้ายตัวเองจากโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัด มาที่โรงพยาบาลชุมชนที่พวกเราทำงานอยู่” คุณวิไลรัตน์ ย้อนเรื่องราวให้ฟัง
เมื่อผลลัพธ์ของอาชีพรับจ้างทำนารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น เมื่อว่างจากการทำนาคุณยายพรจะเดินทางไปตามจังหวัดใกล้เคียงเพื่อรับจ้างทั่วไป ทำให้โรคประจำตัวอย่างเบาหวานได้รับการรักษาไม่ค่อยต่อเนื่องนัก ต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ ตามจังหวัดที่ได้ไปขายแรงงาน ส่วนแผลบริเวณขาขวาที่ไม่รู้ว่าไปถูกอะไร อยู่ดีๆ ก็พุพองขึ้นมาบริเวณหลังเท้า และร้ายแรงขึ้นตามลำดับ
คุณวิไลรัตน์ อธิบายว่า การทำแผลให้กับคุณยายท่านนี้ สร้างความกังวลให้กับทีมแพทย์เป็นอย่างมาก ทั้งเมื่อย ทั้งล้า ทำแต่ละครั้งกินเวลาไปเป็นชั่วโมง ร้ายกว่านั้นกลิ่นของแผลยังทำให้เพื่อนพยาบาล แม้กระทั่งคุณหมอมากไปด้วยอาการพะอืดพะอม และสะสมความเครียดขึ้นเรื่อยๆ
“ครั้งหนึ่งดิฉันเคยสงสัยว่า ทำไมคุณยายท่านนี้ถึงไม่ไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ที่มีอุปกรณ์หรือมีบุคลากรที่พร้อมกว่านี้ เลยถามไปว่า ป้ารู้ไหม แผลป้ากว้างมาก ยังต้องเลาะเนื้อตาย ขูดแผลเพิ่มขึ้นทุกวัน ป้าได้กลิ่นไหม”
ใครจะคาดได้ว่า กับคำถามในวันนั้น ได้เปลี่ยนวิธีคิดของพยาบาลคนนี้อย่างสิ้นเชิง ด้วยคำตอบของป้าพร หลังความเงียบคือ การถอนหายใจบางเบา ก่อนจะปิดดวงตาลงช้าๆ พร้อมกับเสียงสะอื้น
“ป้าไม่อยากโดนตัดขา ความจริงที่มารักษาที่นี่ไม่ใช่เพราะใกล้บ้านอย่างเดียวหรอกนะ แต่ป้าหนีจากโรงพยาบาลใหญ่มา เพราะหมอที่นั่นจะตัดขาป้าทิ้ง ป้าไม่อยากเสียขาไป ป้าจะอดทนให้ถึงที่สุด อย่าส่งป้าไปตัดขาเลยนะ ถ้าไม่มีขาป้าจะทำอะไรกิน” คุณวิไลรัตน์ทวนคำพูดติดหู
และนั่นทำให้เธอเปลี่ยนวิธีคิดต่อวิชาชีพตนเอง ด้วยมองเห็นว่า แทนที่จะเป็นเทคโนโลยีทันสมัย กำลังใจและความเข้าใจชีวิตของมนุษย์ด้วยกันของคนทำงานสุขภาพต่างหากที่เป็น “ยาวิเศษ” ทำให้ชีวิตของใครอีกหลายชีวิตดีขึ้น เหมือนกับวันที่ป้าพร ใช้ไม้เท้ายัน เดินกะเผลกอยู่ตรงหน้าพร้อมรอยยิ้มที่สดใสกว่าครั้งใดที่เคยเห็น
ไม่ต่างจากเรื่องเล่าของ พญ.กรกช จิรประภากร โรงพยาบาลลำพูน จ.ลำพูน ซึ่งเขียนย้อนถึงคนไข้หญิงสาววัยแรกรุ่นที่พบว่าตัวเองตั้งท้องแบบไม่ตั้งใจในเรื่อง “ปลดปล่อย” จำได้ว่าแทนที่จะดีใจ สีหน้าของหญิงสาวรายนั้นกลับเศร้าหมอง เมื่อรู้ว่าตัวเองท้อง ขณะที่ผู้เป็นแม่หันไปมองพร้อมๆ กับที่เด็กสาวคนนั้นหลบตาเม้มปากแน่น สองมือจับกันบิดไปมาขยับตัวเข้าหาแม่
ฉันยืนนิ่งไม่รู้จะพูดอะไร เหมือนมีอะไรมา “จุกคอหอย” แม่ของเธอบอกกับหมอว่า “ลูกเจ้าบ่เคยมีใครจะท้องได้ยะไดหมอ” ขณะที่เด็กหญิงคนนั้นเอาแต่ก้มหน้า ไหล่ทั้งสองกระเพื่อมเบาๆ ตามจังหวะการสะอื้นไห้
“เหมือนเด็กที่ทำผิดแล้วโดนผู้ใหญ่จับได้” พญ.กรกช ว่า ถึงจะสับสนอยู่ในที แต่หมออย่างเธอตัดสินใจวางผลตรวจครรภ์ลง และเริ่มเปิดใจคุยกับเด็กหญิงตามลำพัง ซึ่งช่วงเวลานั้นเองทำให้ได้พบเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น การสื่อสารในครั้งนั้นเป็นการคุยในฐานะที่มากกว่าหมอกับคนไข้ เมื่อเวลาผ่านไปพร้อมกับรอยคราบน้ำตาที่เริ่มเลือนจาง เด็กหญิงคนนั้นหายเงียบไปสักพัก จนมีพยาบาลเรียกให้ไปดูที่ห้องเด็กอ่อน
“ในห้องเด็กอ่อน ฉันกวาดสายตามองไปรอบๆ แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เด็กผู้หญิงคนเดิมคนนั้นอยู่ในชุดคนไข้ สวมถุงเท้าเหมือนคุณแม่หลังคลอด กำลังอุ้มลูก ใบหน้าที่เห็นในวันนี้ช่างแตกต่างจากวันแรกที่เราเจอกันอย่างสิ้นเชิง เหมือนกาลเวลาได้ซับน้ำตา และมอบหน้าที่คุณแม่ให้” หมอกรกช เอ่ยถึงช่วงเวลาประทับใจ
แน่นอนว่าเป็นความประทับใจที่มีอานุภาพเรื่องหนึ่งมากเกินกว่าจะหยุดแค่วงสนทนาจริงๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
update : 22-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน