ชูเรื่องเล่าประโยชน์สาธารณะ สร้างแรงบันดาลใจผู้ผลิตไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพโดย สสส.
ผลงานภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดสรรภายใต้แนวคิด "Storytelling in the Public Interest เรื่องเล่าเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ" มากกว่า 85 เรื่องจากผู้ผลิต 34 ประเทศ ได้ฉายให้ผู้ชมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตที่มากความรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญได้รับชมในการประชุมนานาชาติ "International Public Television Conference 2019" ระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เวทีนานาชาติดังกล่าวเกิดขึ้น งานใหญ่นี้องค์กร INPUT (International Public Television) ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคีเครือข่ายจัดขึ้น มุ่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผลงานหนัง
ภายในงานเนรมิตห้องชมภาพยนตร์ 3 ห้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ สามารถเลือกชมภาพยนตร์ได้ตามความสนใจ โดยภาพยนตร์ที่จัดฉายครอบคลุมทั้งรายการข่าว สารคดี บันเทิง ราย การสำหรับเด็กและเยาวชน และ Cross Media งานนี้ผลงานจากไทยพีบีเอสที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมฉายได้แก่ สารคดีสะอาดบุรี และซีรีส์ฤดูกาลแห่งรัก ตอน ฝน รวมถึงสารคดีถ้ำหลวง สูญ หา เจอ รอด ฟื้น ได้เข้าร่วมฉาย ความโดดเด่นของงานอยู่ที่ผลงานที่เข้าฉายในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ทั้งหมดไม่สามารถหาชมได้ทั่วไป
นับเป็นการประชุมที่สร้างการมีส่วนร่วม เพราะหลังการรับชมหนังทุกเรื่อง ผู้ผลิตจะชักชวนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ชม ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้แนวทางวิธีคิดในการผลิตรายการรูปแบบต่างๆ ทั้งในประเทศและบริบทสากล
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวว่า การสร้างความเข้าใจในการผลิตสื่อสร้างสรรค์และเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย เพราะสื่อเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคย การผลิตต้องคำนึงถึงผู้ชมได้รับผลกระทบที่ดีและเติบโตเป็นผู้ผลิตสื่อที่ดีในอนาคต ปัจจุบันสื่อมีบทบาทและมีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์คนไทยนิยม แต่การผลิตเนื้อหาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะต้องมีความสร้างสรรค์ ไม่ให้น่าเบื่อ ไม่ว่าละคร ข่าว สารคดี สามารถสอดแทรกสาระเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสุขภาวะที่ดีขึ้น ซึ่งต้องเริ่มจากทัศนคติของผู้ผลิตสื่อ ต้องมองบริบทแวดล้อม ปัญหาสังคม และสุขภาวะ ทำให้ สสส.เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ องค์กร INPUT เป็นองค์กรที่รวมผู้ผลิตจากทั่วโลก มีประสบการณ์การผลิตโทรทัศน์สาธารณะผ่านร้อนผ่านหนาว เวทีจะสร้างความเข้าใจเนื้อหาวิชาการ บริบทที่เปลี่ยนไป สะท้อนปัญหาที่ผู้ผลิตเคยเจอ และช่วยกันหาทางออก รวมถึงทำงานในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ตลอดจนพัฒนาการทำงานสื่ออย่างมืออาชีพมากขึ้น
"การผลิตสื่อสาธารณะแม้จะมีภาครัฐให้งบประมาณสนับสนุน แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งควรพิจารณาถึงความเหมาะสมและมีกรอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ความร่วมมือไม่ได้มีเพียงเรื่องเงิน แต่รวมไอเดีย ข้อมูลที่ถูกต้อง และฟังเสียงของประชาชน ตนเห็นว่าสื่อสาธารณะทุกวันนี้ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น และเปิดในภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสื่อต้องวางตัวอย่างไรเพื่อสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริง ชี้นำสังคมที่ถูกที่ควรต่อไป สสส.จะขยายความร่วมมือกับสื่อสาธารณะให้กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงจะยกประเด็นใหม่ๆ เช่น ผู้ด้อยโอกาสที่ไม่เคยมีใครฟังเสียง สื่อให้มากขึ้นเพื่อเปลี่ยนสังคม" ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส กล่าวว่า การประชุมนานาชาติครั้งนี้ไทยพีบีเอสเป็นเจ้าภาพร่วม จัดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย คาดหวังจะเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้ผลิตสื่อของประเทศไทยได้รับรู้บริบทสากล เนื้อหาแบบใดที่ได้รับความนิยม ที่สำคัญเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมกับสื่อสาธารณะ โจทย์ใหญ่ต้องผลิตสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ การฉายผลงานหนังจากนานาประเทศ ทำให้เห็นโปรดักชั่น งบลงทุน วิธีสร้างสรรค์ผลงาน
"หัวใจสำคัญ นำผู้ผลิตเนื้อหา โปรดิวเซอร์ ครีเอทีฟมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โจทย์ใหญ่คือ เราจะรับมือกับพฤติกรรมของคนดูที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร ทั้งดูโทรทัศน์น้อยมาก จะผ่านช่องทางอื่น และเลือกดูสิ่งที่สนใจ ใช้เวลาในการดูน้อยลง แต่เงื่อนไขความเป็นสื่อสาธารณะต้องผลิตเนื้อหาที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม ไม่แข่งขันการตลาดกับสื่อเชิงพาณิชย์ โจทย์คือการออกแบบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ความเข้าใจตลาดผู้ชมให้มากที่สุด หาทางสู้กับโซเชียล มีเดียที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ วงนี้ไม่ได้มีวิชาการ แต่ได้เห็นตัวอย่างและเกิดการถกเถียงกัน งานนี้มีผู้ผลิตอิสระ ของไทยร่วมประชุมกว่า 40 คน เกิดประโยชน์แน่นอน" ผอ.ไทยพีบีเอสกล่าว
สำหรับสารคดีถ้ำหลวง สูญ หา เจอ รอด ฟื้น ที่จัดฉายในการประชุมนานาชาตินี้ รศ.ดร.วิลาสินีเผยว่า เป็นตัวอย่างการพัฒนาสื่อจากเรื่อง 13 หมูป่าติดถ้ำหลวงที่ทั่วโลกสนใจ สะท้อนความร่วมมือมนุษยชาติ จะนำผลงานไปบุกต่างประเทศ รวมถึงพยายามเสนอเนื้อหาสะท้อนคุณค่าวัฒนธรรมไทย ทั้งอาหารไทย และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศไทย เชิดชูการอยู่ร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ก็ยังยืนยันเป็น แหล่งข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ อยู่ในกรอบจริยธรรม และไม่แบ่งแยก รวมถึงลงทุนผลิตเนื้อหาที่สร้างสรรค์ และปรับปรุงรูปแบบ นำเสนอให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ชมมากขึ้น
วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมขับเคลื่อนงานนี้เพราะมีวัตถุประสงค์สอดคล้องช่วยกันสนับสนุนเครื่องมือผลิตสื่อที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม งานประชุมและฉายภาพยนตร์จากทุกมุมโลกช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับสื่อต่างๆ ทั้งไทยและเทศ จะนำเสนอข่าว สารคดีให้สร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบต่อสังคม นับเป็นการประชุมนานาชาติที่เกิดประโยชน์ต่อคนทำสื่อและวงการสื่อของไทยเป็นอย่างยิ่ง