ชูสุรินทร์ต้นแบบ “ลดอุบัติเหตุทางถนน”

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ชูสุรินทร์ต้นแบบ


แฟ้มภาพ


'การแก้ไขจุดเสียงต้องจัดการองค์ความรู้และชุมชนต้องมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทาประชาคมและการจัดการพื้นที่ ที่สำคัญชุมชนต้องให้ข้อมูลแก่ ศปถ. เพื่อที่จะได้นำมาสรุปวิเคราะห์และประเมินการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง'


ในอดีตบริเวณสี่แยกบ้านกันโจรง ต.กระหาด อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทั้งสาเหตุจากคนนอกที่ไม่คุ้นชินเส้นทาง จากการเมาหรือหลับใน รวมถึงถนนมีป้ายเตือนไม่ชัดเจน เหตุการณ์วิกฤตสุด เมื่อรถบางคันวิ่งมาด้วยความเร็วสูงจนหลุดโค้งเลยออกมาชนบ้านเรือนของประชาชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้สี่แยกดังกล่าวเสียหาย ซึ่งด้วยสภาพเป็นพื้นที่แยกนี้ มีถนนสายหลักผ่านไปยังจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดอื่นทางอีสานเหนือ ทำให้การจราจรคับคั่ง มีรถสัญจรจำนวนมากและวิ่งด้วยความเร็วสูง ขณะที่สภาพถนนแคบเพียง 2 เลน และไม่มีสัญญาณไฟในทางแยก พื้นผิวถนนไม่เรียบ มีต้นไม้ใหญ่ข้างทาง


จอมพระเป็นอำเภอลำดับ 5 ของสุรินทร์ที่มีสถิติอุบัติเหตุสูงสุด ซึ่งจากข้อมูลในปี 2554 – 2556 พบว่ามีอุบัติเหตุเฉลี่ยถึงปีละ 453 ครั้ง และมีผู้บาดเจ็บเฉลี่ยปีละ 927 ราย และเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 5 ราย โดยพื้นที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด 4 ตำบล คือ จอมพระ หนองสนิท เมืองลีง และเป็นสุข


จากปัญหาที่เกิดขึ้นและด้วยการเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนงานสร้างความปลอดภัยทางท้องถนน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และหน่วยงาน อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันพัฒนาการสร้างกลไกขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนทำให้อุบัติเหตุลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ และเน้นการพัฒนากลไกต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ดำเนินการพัฒนาศักยภาพและเสริมพลังให้ภาคีเครือข่าย คณะทำงานและบุคลากรแกนนำด้านนี้ ตลอดจนทำหน้าที่เชื่อมประสานและกระตุ้นสนับสนุนการทำงานของภาคีเครือข่ายในจังหวัด และพัฒนาแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความปลอดภัยทางถนนของประชาชนในพื้นที่ เช่น การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การควบคุมความเร็ว เป็นต้น


รวมทั้งการสนับสนุนให้ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางท้องถนน (ศวปถ.) พัฒนาต้นแบบกลไกการจัดการในระดับพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีณรงค์ อำเภอจอมพระ และอำเภอบัวเชด เพื่อพัฒนาต้นแบบกลไกการจัดการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ทั้ง 3 อำเภอ ซึ่งจะเป็นจุดจัดการ/อำนวยการ นำนโยบายจากส่วนกลางนำไปประยุกต์และปฏิบัติใช้จริงในพื้นที่   โดยจากการขับเคลื่อนดังกล่าว เกิดพื้นที่ต้นแบบมีกลไกการจัดการเรื่องความปลอดภัยทางถนน 10  แห่ง


ชูสุรินทร์ต้นแบบ ณรงค์ จันทร์ทอง นายอำเภอจอมพระ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า อำเภอจอมพระมีนโยบายการขับเคลื่อนระดับอำเภอ 3 เรื่อง คือ 1. การสวมหมวกกันน็อค เน้นรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ กวดขันวินัยจราจร และจัดอบรมวินัยจราจรให้โรงเรียนทำข้อตกลงให้นักเรียนสวมใส่หมวกกันน๊อคทุกครั้ง พบว่าจากการดำเนินการภายใต้ ศปถ. ทำให้กลุ่มประชาชนทั่วไปมีอัตราการสวมหมวกกันน็อคสูงขึ้น 2.5 เท่า กลุ่มผู้นำ/อสม.มีอัตราการสวมหมวกกันน็อคเพิ่มขึ้น 3 เท่า และกลุ่มนักเรียนมีอัตราการสวมหมวกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า 2. การแก้ไขจุดเสี่ยง สามารถแก้ไขจุดเสี่ยง 24 จุดจากทั้งหมด 27 จุด โดยมีการปรับสภาพแวดล้อม ติดตั้งไฟส่องสว่าง จัดทำป้ายเตือน และ 3. อุบัติเหตุจากรถไถ มีการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน โดยรณรงค์ให้นำแผ่นซีดีมาติดหลังรถไถ นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวเช่น ปีใหม่ สงกรานต์ จะมีการตั้งด่านชุมชนในทุกหมู่บ้าน 105 หมู่บ้าน มีการติดตามผล ทำงานอย่างเข้มข้นทำให้ช่วงเทศกาลปี 2559 อัตราการตายจากอุบัติเหตุลดลงเป็นศูนย์ คือไม่มีผู้เสียชีวิตเลย


ปัจจุบันบริเวณสี่แยกบ้านกันโจรงและจุดเสี่ยงอื่นๆ ในพื้นที่บ้านกันโจรง ทางอำเภอ โดยคณะทำงาน ศปถ.จึงมีมาตรการแก้ไขและปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ อาทิ วางกรวยชลอความเร็ว ติดตั้งไฟกระพริบ หลังการปรับปรุงมาเกือบปีไม่พบอุบัติเหตุหนักอีกเลย ส่วนการแก้ไขในระยะยาวขณะนี้กำลังดำเนินการของบประมาณพัฒนาขยายพื้นที่ถนนเป็นขนาด 4 เลนในอนาคต


"การแก้ไขจุดเสี่ยงต้องจัดการองค์ความรู้ และชุมชนต้องมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทำประชาคมและการจัดการพื้นที่ ที่สำคัญชุมชนต้องให้ข้อมูลแก่ ศปถ. เพื่อที่จะได้นำมาสรุปวิเคราะห์และประเมินการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง" นายอำเภอกันโจรง กล่าว


ขณะที่ อารยันต์ ท่าใหญ่ นายอำเภอศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ข้อมูลปี 2554-2556 ในพื้นที่มีอุบัติเหตุ 411 ครั้ง เฉลี่ย 137 ครั้ง/ปี มีผู้เสียชีวิตรวม 14 ราย เฉลี่ย 4-5 ราย/ปี  ภายหลังได้ทำงานร่วมกับสสส. และศวปถ. ส่งผลให้การชูสุรินทร์ต้นแบบ ทำงานในพื้นที่ อ.ศรีณรงค์ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น คือ 1.มีการแก้ไขจุดเสี่ยง 12 จุดจากทั้งหมด 23 จุด อาทิ ปรับสภาพแวดล้อม ตัดตั้งไฟส่องสว่าง/กระจก/ไฟกระพริบ ป้ายเตือน 2.สวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มผู้นำชุมชน/อสม. 100% นักศึกษา/กศน. 88.9% นักเรียน 73.8%3.ดื่มไม่ขับ โดยงานเลี้ยงของส่วนงานราชการปลอดเหล้าทุกงาน และรณรงค์งานศพปลอดเหล้าทั้งอำเภอ


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เน้นในการหนุนเสริมชุมชนให้มีการพัฒนากลไกสู่ความเป็นรูปธรรม โดยนอกจากจะหนุนด้านองค์ความรู้  สสส.ยังส่งเสริมให้ ศปถ.ที่จัดตั้งโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันทำให้ ชุมชนมีความเข้าใจและรู้บทบาทของตนเองมากขึ้น  และสร้างต้นแบบกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนระดับต่างๆ เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืน


"ผลการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น 2 ส่วนคือ 1.พัฒนาระบบการจัดการ/จุดอำนวยการ นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติใช้ได้จริง และมีความต่อเนื่องตลอดทั้งปีไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์เท่านั้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนดีขึ้น โดยเฉพาะการสวมหมวกนิรภัย ที่ป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ การดื่มแล้วขับ ทั้งนี้ สสส. อยู่ระหว่างการขยายโมเดลการทำงานในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดสุรินทร์ และเตรียมต่อยอดการทำงานพัฒนาให้เป็นต้นแบบการจัดการในระดับพื้นที่ของไทย พร้อมพัฒนาหลักสูตรการอบรมขับเคลื่อนศปถ.อำเภอ/ท้องถิ่น"

Shares:
QR Code :
QR Code