ชุมชน "ลดเมา เพิ่มสุข" ลดเจ็บ-ตาย เทศกาลรื่นเริง
ที่มา : สยามรัฐ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สยามรัฐ
ที่ผ่านมา ต้องยอมรับกันว่าความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุและเมาแล้วขับ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี และสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเมาแล้วขับนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ทางแผนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ทำการรณรงค์ "ลดเมา เพิ่มสุข" มาตั้งแต่ปี 2561 ประกอบด้วยกิจกรรม 4 สร้าง 1 พัฒนา คือสร้างคนต้นแบบสร้างเส้นทางปลอดภัย สร้างนวัตกรรมช่วยเลิกโดยชุมชน และการกำหนดมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนอีก 1 พัฒนานั้น คือการพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อเป้าหมายการลดการดื่มสุราและเมาไม่ขับ
จากการทำงานอย่างหนัก โดยมีองค์กรท้องถิ่นทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นแกนนำหลัก โดยชักชวนผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน องค์กรชุมชน และประสานการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ได้ส่งผลให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเครือข่ายฯ เกิดการสูญเสียน้อยมาก บางพื้นที่แทบจะไม่เกิดเหตุเลย
น.ส.วงวรรณ เทพอาจ หัวหน้าฝ่ายบริการสาธารณสุข กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลปัว อ.ปัว จ.น่าน กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการกวดขันการตรวจจับเรื่องเมาแล้วขับให้มากขึ้น ไม่ว่าในเทศกาลหรือนอกเทศกาล และเข้มงวดกับการดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง จะเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในที่สุด
"ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่อำเภอปัว ในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 พบว่าเกิดอุบัติเหตุจำนวน 13 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 15 ราย และเสียชีวิตจำนวน 2 ราย" น.ส.วงวรรณ กล่าว
ด้าน นายสุพรรณ ชัยมี นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า เทศบาลตำบลนาข่า มีรูปธรรมที่ชุมชนนำมาใช้ คือ "ด่านครอบครัว" โดยใช้ความรักของคนใกล้ชิดเป็นด่านสกัดด่านแรกในการป้องกันอุบัติเหตุ โดยหัวหน้าครอบครัวหรือคนในครอบครัวจะต้องช่วยกันดูแลคนที่ดื่มให้อยู่กับบ้าน เสมือนเป็นด่านชั้นแรก เพราะถ้าดื่มกินอยู่กับบ้านไม่ออกไปไหน อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น
"ย้ำว่า หากขัดขืนและไม่เชื่อฟัง แน่นอนว่าชุมชนก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการควบคุมการดื่มเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ" นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า กล่าว
เช่นเดียวกับ อบต.มะเกลือใหม่ อ.สูงเนินจ.นครราชสีมา ตลอด 7 วันช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่มีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตใน ต.มะเกลือใหม่ แม้แต่รายเดียว อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ทั้งที่เป็นพื้นที่เสมือนเป็นประตูสู่ภาคอีสาน มีถนนสายหลักผ่านถึง 2 เส้นทาง ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเป็นเพราะทาง อบต.มะเกลือใหม่ ได้เอาใจใส่กับช่วงเทศกาลอย่างจริงจังโดยเฉพาะตั้งด่านชุมชน มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครเฝ้าระวัง สกัดกั้นคนเมา เพื่อลดอุบัติเหตุในชุมชนให้บริการตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืนของทุกวัน พร้อมกับจัดพื้นที่เล่นน้ำในภายในตำบล ตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาที่ต้องการให้จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ภายในตำบล เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนรักษาประเพณีอันดีงาม
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าว ว่าธีมการรณรงค์ "ลดเมาเพิ่มสุข" ที่ทางเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกันขับเคลื่อนกันมา ต้องการทำให้เกิดการเฝ้าระวังในพื้นที่ของตัวเองขณะเดียวกันก็จะมีการสื่อสารตามวาระ เช่น ปีใหม่สงกรานต์ ให้แต่ละท้องถิ่นดำเนินการตามแนวทางที่ร่วมกันกำหนดขึ้น ซึ่งทุก ๆ แห่งจะวางเป้าหมายไว้ที่ "ลดเจ็บ ไม่ตาย" ซึ่งงานที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ทำอยู่นี้ ถ้าทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มจำนวนคนเลิกเหล้าในชุมชนช่วยลดอุบัติเหตุบนถนน ชุมชนท้องถิ่นมีนวัตกรรมที่เป็นวิธีการช่วยผู้ที่ต้องการเลิกเหล้า และเกิดหมู่บ้านต้นแบบที่มีการกำหนดมาตรการทางสังคม
อย่างไรก็ตาม การทำงานของชุมชนจะประสบความสำเร็จได้ ต้องประสานความร่วมมือกันในทุก ๆ ส่วน ทั้งองค์กรท้องถิ่น ภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อทำชุมชนให้เกิดสุขภาวะอย่างแท้จริง