ชุมชน-ประชาสังคม อีกกลไกสำคัญรับมือโควิด-19
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดงาน (ออนไลน์) "ภาคีจัดการดูแลคนกรุงเทพฯ ในสถานการณ์โควิด-19" โดยช่วงหนึ่งภายในงานมีการกล่าวถึงบทบาทของ "ภาคประชาสังคม" ในการร่วมฝ่าวิกฤตโรครระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะการดูแล "กลุ่มเปราะบาง" อันหมายถึงชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อย ที่มีอยู่จำนวนมากในเมืองหลวงของไทยแห่งนี้
เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป เล่าถึงการทำงานในพื้นที่ "ชุมชนคลองเตย" ว่า สถานการณ์ โควิด-19 ที่คลองเตยเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ด้วยสภาพพื้นที่ ที่ผู้คนอยู่กันอย่างแออัด "บ้านหลังหนึ่งอยู่กันเฉลี่ย 7-10 คน และไม่มีห้องส่วนตัว" จึงไม่ต้องแปลกใจที่เมื่อมีผู้ติดเชื้อแล้วจะเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ "วัดสะพาน" มีการวางแผนทำศูนย์พักคอยมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรกในปี 2563 แล้ว เพียงแต่เวลานั้นสถานการณ์ไม่รุนแรงจึงไม่ได้ใช้ เมื่อเกิดการระบาดระลอกนี้จึงดำเนินการได้
แต่เมื่อทำไประยะหนึ่ง ศูนย์พักคอยก็กลายเป็นพื้นที่รักษาเพราะโรงพยาบาลเตียงเต็มกันหมด หลายคนอยู่จนหายจาก โควิด-19 จำนวนที่รับได้จาก 250 คน ต่อมาขยายเป็น 300 คน และปัจจุบันรับได้สูงสุด 500 คน ถึงกระนั้นก็เห็นว่าเริ่ม แออัดแล้ว นอกจากนี้ ยังมี "กลุ่มคลองเตยดีจัง" ที่สมาชิกเป็นคนรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีได้คล่อง เข้ามาทำระบบฐานข้อมูล ระบบประสานส่งต่อโรงพยาบาล ระบบแพทย์ให้คำปรึกษาผู้ป่วย หรือ "ทีมกู้ภัยชุมชน" ที่ต้องปรับบทบาทมาดูแลเรื่องการให้ออกซิเจนผู้ป่วยในชุมชนที่ยังรอตรวจหรือรอเตียง
"มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) สภาองค์กรชุมชน ก็มีการเข้ามาตรวจ ก่อนหน้านั้นก็จะมีการตรวจโดย กทม. ตอนหลังก็มีการประสาน พอช. เข้ามาตรวจ ตรวจไป 4 วัน พบผู้ติดเชื้อประมาณ 600 ราย ถ้าตรวจแล้วคนใดคนหนึ่งมีอาการ เข้าข่ายเหลืองเข้าข่ายส้มก็จะมีการให้ยาเลย มีการฉีดวัคซีนให้เป็น One Stop Service ก็ปรากฏว่า เดือน ส.ค. 2564 เคสคนไข้สีส้ม-สีเหลือง (มีอาการสุ่มเสี่ยงไปทางรุนแรง) ก็เบาลงไปมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการรักษาเร็ว ให้ยาเร็ว" เพ็ญวดี กล่าวด้าน นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนา ที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า มพศ. ได้เข้าไปทำงาน กับชุมชนที่เข้าไม่ถึงการรักษา ในช่วงที่ทั้งโรงพยาบาลและ โรงพยาบาลสนามเตียงเต็มและบุคลากรสาธารณสุขภาระล้นมือ การส่งต่อไม่สามารถทำได้
โดยการทำงานของ มพศ. ดำเนินการ มาแล้ว "4 ระยะ" ประกอบด้วย
1.จัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน เนื่องจากแต่ละชุมชนครัวเรือนค่อนข้างหนาแน่น จึงต้องหาพื้นที่ในชุมชน เช่น ศูนย์ประชุมของชุมชน ทำเป็นศูนย์พักคอยสำหรับแยกผู้ติดเชื้อออกมาจากครัวเรือนเพื่อตัดวงจรการระบาด อีกทั้งต้องอบรมให้ความรู้กับแกนนำชุมชนเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เช่น การประเมินอาการ การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือประคับประคองผู้ติดเชื้อระหว่างที่ยังอยู่ในศูนย์พักคอย โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ส่งวิทยากรมาช่วยอบรมให้
2.จัดระบบการรักษาที่บ้าน เนื่องจากเตียงโรงพยาบาลเต็มทั้งหมดไม่สามารถส่งต่อได้ จึงต้องประสานกับเครือข่าย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ คลินิกพริบตา ทำความเข้าใจกับแกนนำชุมชนในรักษา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านจนครบ 14 วัน ซึ่งนอกจากการรักษาโรคทางกายแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพูดคุยให้กำลังใจเพื่อลดความเครียดด้วย
3.ตรวจเชิงรุกแบบปูพรมในชุมชน เป็นการทำงานร่วมกับ สปสช. ชมรมแพทย์ชนบท และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา เนื่องจากคนในชุมชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 โดย มพศ. ซึ่งดูแลอยู่ 30 ชุมชน เมื่อทราบว่ามีโครงการตรวจปูพรมก็เร่งรัดให้ได้รับการตรวจในทันที เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนมากแม้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ จึงไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อแต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
และ 4.ติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เช่น มีผู้ติด เชื้อเพิ่มหรือไม่ มีใครมีอาการน่าสงสัยหรือไม่ เป็นรอบเก็บตกจากระยะที่ 3 โดยเน้นการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เข้าไปตรวจถึงบ้าน มุ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับ ผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า หากพบผู้ติดเชื้อก็จะมีการจ่ายยาและเข้าระบบการรักษา รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านอาหารในช่วงที่ต้องกักตัว ซึ่งชุมชนที่มีความพร้อมจะได้รับงบประมาณไปบริหารจัดการเอง โดยทำงานร่วมกับร้านอาหารภายในชุมชน ซึ่งอีกทางหนึ่งก็เป็นการสร้างรายได้ให้ร้านเหล่านี้ด้วย
"เป้าหมายในการทำงานของเราคือการให้ชุมชนปลอดเชื้อ เข้าถึงการรักษา ได้รับยาเร็วเมื่อเจ็บป่วย อยู่ร่วมในชุมชนและสังคมได้อย่างเข้าใจ ช่วยเหลือกัน และใช้ชีวิตปกติร่วมกับโควิดให้ได้ อันนี้คือเป้าหมายในการทำงานของเรา ทีนี้เราคิดว่างานต่อไปในระยะที่ 5 คือเราอยากให้ชุมชนและทุกคนในสังคม ใช้ชีวิตปกติร่วมกับโควิดให้ได้ แล้วก็เรียนรู้ว่าถ้าพบผู้ติดเชื้อและเจ็บป่วยก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้ และได้รับยาได้เร็วก็จะหายได้
การทำแบบนี้แล้วให้กระจายไปทุกพื้นที่ ให้ชุมชนลดความกลัว-ความกังวล ที่มากเกินไปกับผู้ติดเชื้อ มันจะช่วยให้คนในชุมชนและคนในสังคมลดการรังเกียจ แล้วอยู่กันอย่างเข้าใจว่าอยู่กันได้แต่อยู่แบบมีมาตรการป้องกันดูแลตัวเองอย่างเข้มงวดได้อย่างไร ซึ่งถ้าแบบนี้ทำได้ระบบเศรษฐกิจมันก็จะเริ่มเดินหน้าได้ มันก็จะไปช่วยลดปัญหาเศรษฐกิจรายได้ และลดปัญหาสังคมที่จะตามมา" นพพรรณ กล่าว เลขาธิการ มพศ. สรุปบทเรียนการทำงานครั้งนี้ไว้ว่า "ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการปัญหาและดูแลสุขภาพได้"
ดังนั้นระยะยาวชุมชนสามารถแบ่งเบาภาระงานของหน่วยบริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อันเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่น และมีชุมชนเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งที่จดและไม่จดทะเบียน การสนับสนุนให้ชุมชนมีศักยภาพจะสามารถลดช่องว่างในการเข้าถึงการมีสุขภาพดีได้
ส่วนข้อเสนอในอนาคต หลังจากสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น 1.อบรมให้ความรู้กับแกนนำชุมชน ทั้งที่เป็นและไม่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ สามารถทำหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 ในชุมชนได้เอง ตั้งแต่การตรวจคัดกรองไปจนถึงการส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา 2.กระจายชุดตรวจลงสู่ชุมชน เพื่อให้แกนนำชุมชนมีเครื่องมือพร้อมใช้งานเมื่อพบคนในชุมชนมีอาการหรือประวัติเสี่ยง และ 3.แก้ไขกฎระเบียบให้ยืดหยุ่น ตอบโจทย์การรับมือสถานการณ์วิกฤต ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนถึงปัญหาและ ข้อจำกัดในเรื่องนี้มาก
แต่ยังมีประเด็นท้าทาย "จะทำอย่างไรให้ชุดตรวจโควิดมีราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้?" โดยเฉพาะชุมชนแออัดที่จำนวนมากเป็นผู้มีรายได้น้อย ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ไม่สามารถทำงานมีรายได้เท่าเดิมอย่างในอดีต อีกทั้งแต่ละครัวเรือนก็มีสมาชิกหลายคน รวมถึง "วัคซีน" ที่ต้องไปฉีดพร้อมกับการตรวจคัดกรอง