ชุมชนโรงเรียนเด็กกินผัก 2018 ชวนเด็กปลูก ปรุง วัตถุดิบอินทรีย์
ที่มา : เว็บไซต์ Greenery.org
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ Greenery.org ภาพถ่ายโดย โครงการโรงเรียนเด็กกินผัก
ตั้งแต่เด็กๆ เราต่างก็รู้ว่าต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และที่สำคัญต้องกินผัก กินผลไม้ แต่ใครจะไปคิดว่าผักและผลไม้ในจานอาหารของเด็กนักเรียนตามโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 63% ไม่ปลอดภัย (จากการนำเสนอของมูลนิธิศึกษาไทยในสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2561) ปัญหาความปลอดภัยในอาหารนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายๆ ฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไข ซึ่งเกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับการแก้ปัญหาสารปนเปื้อนในอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเกิดโครงการดีๆ อย่าง โครงการโรงเรียนเด็กกินผัก ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้เด็กๆ ได้กินผักที่ปลอดภัยและเรียนรู้ความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ในโรงเรียน
ตอนนี้ก็เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้วที่ 30 โรงเรียนต้นแบบได้ทำงานร่วมกันกับโครงการผ่านกิจกรรมอันหลากหลายตามข้อจำกัดของแต่ละโรงเรียน จนเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลง ทุกโรงเรียนมีกิจกรรมเป็นรูปเป็นร่างและมีแนวทางการจัดการที่น่าสนใจ ตั้งแต่สนับสนุนให้ปลูกผักกินเองภายในโรงเรียน สร้างสรรค์เมนูอาหารกลางวันใหม่ๆ ต่อยอดเรื่องราวการกินดีจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกเขาได้ถ่ายทอดผ่านกิจกรรม ‘ชุมชนโรงเรียนเด็กกินผัก’ บริเวณห้องอเนกประสงค์ของหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
กิจกรรมนี้ได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ และคุณครูจากโรงเรียนที่ร่วมโครงการแล้ว กำลังจะร่วมในอีกไม่นาน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจให้เข้ามาร่วมงานได้ฟรีๆ ซึ่งชุมชนโรงเรียนเด็กกินผักจัดขึ้นมาเพื่อส่งต่อความคิดและแนวทางการปฏิบัติ รวมถึงชักชวนคุณครูและเด็กๆ จากโรงเรียนอื่น ให้มองเห็นความสำคัญของการกินผักผลไม้อินทรีย์ และมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพลัง สนับสนุนเรื่องอาหารปลอดภัยในสถาบันการศึกษา เพื่อส่งต่อความยั่งยืนนี้ไปสู่สังคม ผ่านกิจกรรมมากมายที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม
ถอดบทเรียนผ่านนิทรรศการ
เพราะทุกโรงเรียนมีเรื่องราวที่แตกต่างและยังมีแนวทางการจัดการเป็นของตนเอง ในงานชุมชนโรงเรียนเด็กกินผักจึงได้นำเสนอเรื่องราวของทั้ง 30 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการผ่านนิทรรศการสองตัว ตัวแรกคือนิทรรศการแผนที่โรงเรียนเด็กกินผัก ที่จะปักหมุดโรงเรียนทั้งหมดว่าตั้งอยู่บริเวณไหนบนแผนที่ประเทศไทย พร้อมทั้งแนะนำเราคร่าวๆ ว่าแต่ละโรงเรียนสร้างสรรค์กิจกรรมที่โดดเด่นอย่างไรในโรงเรียนของพวกเขา
อีกส่วนคือนิทรรศการภาพวาดสีน้ำ โดยนักวาดภาพประกอบและเด็กๆ จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งส่วนนี้จะนำเสนอเมนูอาหารสร้างสรรค์จากผัก รวมถึงแนวทางการจัดกิจกรรมที่แต่ละโรงเรียนนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบท ข้อจำกัดและความเหมาะสมของโรงเรียนตนเอง ซึ่งทั้งสองนิทรรศการนี้ถือเป็นการถอดบทเรียนที่สำคัญจากทั้ง 30 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้เราเห็นว่าทุกโรงเรียนต่างก็มีแนวทาง มีวิธีการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ต่างกันไปตามพื้นที่และช่วงวัยของนักเรียน
สารพัดกิจกรรมให้เด็กได้เล่น
สำหรับเด็กๆ แล้วเมนูผักคงเป็นของขยาด เราจึงได้เห็นกิจกรรมมากมายที่ชวนให้เด็กๆได้ร่วมสนุกไปกับการเรียนรู้ประโยชน์และได้กินของอร่อยจากผักอินทรีย์ ทั้งกิจกรรมสอนทำอาหารให้กับเด็กๆ ที่มีสารพัดเมนูสุดสร้างสรรค์ เช่นน้ำพริกคุณหนูโดยป้าหน่อย ร้าน Health Me เมนูบะหมี่ผักหรรษาโดยโรงเรียนศาลจ้าวอาม้า และเมนูบัวลอยนักปั้น โรงเรียนวัฒนานนท์วิทยา เป็นต้น
และยังมีกิจกรรมปลูกผักกันเถอะจากโรงเรียนประถมนนทรี ที่ได้จัดเตรียมกระถางขนาดเล็ก ดินและเมล็ดพันธุ์ผัก ให้เด็กๆ ได้ลงมือเพาะปลูกรวมถึงเพ้นท์กระถางสำหรับเพาะปลูกด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมสุดฮอตที่มีเด็กๆ มาต่อคิวร่วมปลูกต้นไม้กันไม่ขาดสาย
นอกจากให้เด็กๆ ได้ลงมีทำอาหารหรือปลูกผักด้วยตนเอง ยังมีเกมสนุกๆ อย่างบันไดงูผักและผลไม้ โดยโรงเรียนบ้านเจียรดับที่นำเกมส์บันไดงูมาบูรณาการร่วมกับความรู้เรื่องการกินผักผลไม้และการออกกำลังกาย ให้เด็กๆ ได้เล่นสนุกและมีความรู้ไปพร้อมๆ กัน
พบปะกับเครือข่ายให้คุณครูได้เรียนรู้
ไม่เพียงแค่กิจกรรมสำหรับเด็กๆ ในงานชุมชนโรงเรียนเด็กกินผักยังมีงานเสวนาที่เปิดโอกาสให้คุณครูผู้มีส่วนร่วมมาเเลกเปลี่ยนเรื่องราวการผลักดันโครงการเพื่อให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างในโรงเรียน ทั้งช่วง ‘เสวนาวิชาการเรื่องความท้าทายของการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะทางอาหารปลอดภัยในโรงเรียน’ ที่ให้ผู้บริหารของโรงเรียนในโครงการ มาพูดคุยถึงแนวทางที่จะผลักดันให้เด็กได้กินผักผลไม้อินทรีย์ตั้งแต่เชิงนโยบาย และยังมีช่วง ‘เสวนาพาทีกับเหล่าคุณครูหน้าชั้นเรียน ในวันที่คุณครูต้องทำงานมากกว่าการสอน’ ที่คุณครูผู้อยู่คลุกคลีกับเด็กๆ ได้มีแลกเปลี่ยนเรื่องราวการปรับเปลี่ยนบทบาทเมื่อเข้าร่วมโครงการโรงเรียนเด็กกินผัก
จากสองเวทีเสวนานี้ทำให้เราได้เห็นว่าการจะปรับเปลี่ยนให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่เด็กกินผักนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความร่วมมือจากทั้งเด็กๆ คุณครู ผู้บริหาร รวมถึงผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญของอาหารปลอดภัยด้วย เหมือนที่คุณเลย์ นฤมล กลิ่นด้วง ผู้ประสานงานของโครงการ ได้บอกกับเราไว้ว่า “นอกจากเข้าไปเสริมเรื่องการปลูกผักให้ปลอดภัย เรายังต้องการให้เขาตระหนักถึงคุณค่าของอาหาร ส่งเสริมให้เด็กๆ เราจะทำงานกับโรงเรียนด้วย แต่โรงเรียนทำงานต่อผู้ปกครองอีกทีหนึ่ง ให้เขาเปลี่ยนทัศนคติเรื่องอาหารของตัวเองด้วยเหมือนกัน”
เครือข่ายอาหารปลอดภัยจากโรงเรียนสู่ชุมชน
ก่อนจะจบงาน ตัวแทนจากชุมชนโรงเรียนเด็กกินผัก 2018 บอกเราว่า “ชุมชนโรงเรียนเด็กกินผักเป็นการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องอาศัยพลังความร่วมมือกัน เป็นสิ่งที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งไม่สามารถทำได้โดยลำพัง นอกจากเราต้องอาศัยความร่วมมือ ความรู้ ความเข้าใจจากผู้ปกครองและชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่แล้ว การค่อยๆ ก่อตัวสร้างเครือข่ายชุมชนโรงเรียนเด็กกินผักก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้เขาได้เเลกเปลี่ยนปัจจับการผลิต แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ได้ไปเยี่ยมเยือนและให้กำลังในระหว่างกันได้ จึงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องผลักดันต่อไปรวมถึงขยายผลความงอกงามที่เกิดขึ้นกับทั้ง 30 โรงเรียนนี้ไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน”
งานชุมชนโรงเรียนเด็กกินผักที่ผ่านมาถือว่าเป็นการส่งต่อและขยายผลที่ทำให้เราสัมผัสได้จริงๆ ว่าทุกโรงเรียนสามารถส่งเสริมให้เด็กๆ มากินผักผลไม้อินทรีย์และเข้าใจแนวคิดถึงอาหารปลอดภัยได้ แม้จะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หากในโรงเรียนได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทั้งเด็ก ผู้ปกครองและคุณครู ตัวอย่างความสำเร็จที่ทั้ง 30 โรงเรียนเด็กกินผักในปีนี้สร้างไว้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้เกิดการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์อย่างยั่งยืนในอีกหลายๆ สถาบันการศึกษา