ชุมชนโคกม่วง ห่างไกลควันบุหรี่
ชุมชนโคกม่วง จ.บุรีรัมย์ ร่วมกันทำโครงการเลิกบุหรี่ เน้นการรณรงค์ถึงพิษภัย สร้างการรับรู้ และตระหนักถึงอันตรายจากบุหรี่ทุกรูปแบบ
การสูบบุหรี่ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผู้สูบแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ใกล้ชิดที่สูดเอาอากาศผสมควันบุหรี่เข้าไปด้วย เนื่องจากควันบุหรี่เป็นแหล่งของสารก่อมะเร็งมีผลต่อมนุษย์มากที่สุด ซึ่งผู้ที่ไม่ได้สูบแต่สูดเอาควันเข้าไปนั้น จะได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากกว่าผู้สูบ 2-5 เท่า และรับสารเคมีต่างๆ ที่ออกมาจากควันบุหรี่มีไม่น้อยกว่า 3,800 ชนิด
โดยหลายชนิดมีฤทธิ์เป็นพิษทำลายสุขภาพ เช่น นิโคติน ที่ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เพิ่มไขมันในเลือด เส้นเลือดในสมองตีบไปถึงขั้นหัวใจวายได้ โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่เป็นสารก่อมะเร็งอย่างร้ายแรงคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่จะไปขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง จนผู้สูบบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลงกว่าปกติร้อยละ 10-15 ไนโตรเจนไดออกไซด์ ก็เป็นสาเหตุสำคัญของโรคถุงลมโป่งพองและยังมีสารพิษชนิดอื่นๆ ได้แก่ สารเคมีกำจัดแมลงและโลหะหนักอย่างสารหนู ที่ตกค้างอยู่ในใบยาสูบ
ฉะนั้น ยิ่งถ้าปล่อยให้มีการสูบบุหรี่ในพื้นที่ชุมชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลในวงกว้าง และหากเด็กในชุมชนได้รับควันบุหรี่จำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม แม้แต่หญิงมีครรภ์ที่ได้รับควันบุหรี่ โอกาสแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดก็จะเกิดขึ้นได้สูง อีกทั้งยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ ที่อาจทำให้เด็กมีความผิดปกติทางระบบประสาทและระบบความจำ
โครงการ คนโคกมะม่วงร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่ จึงเกิดขึ้น เป็นความร่วมกับกลุ่มภาคเครือข่าย ที่ดำเนินงานผ่านคนในชุมชนเป็นฐาน มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและควบคุมอัตราและจำนวนผู้สูบบุหรี่ในชุมชนของตำบลโคกมะม่วง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ วิธีการทำงานยังมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับบุคคล พร้อมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยจากบุหรี่
ประยงค์ ทองพระพักตร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเทพพัฒนา ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในชุมชนมีคนสูบบุหรี่จำนวนมากถึง 2,000 กว่าคน ทาง รพ.สต.บ้านเทพพัฒนาจึงตระหนักถึงปัญหาที่มีผลต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้น จึงปรึกษาผู้นำชุมชน เพื่อร่วมกันทำโครงการเลิกบุหรี่ วิธีการที่ใช้นั้นเน้นไปที่การรณรงค์ถึงพิษภัย สร้างการรับรู้ และตระหนักถึงอันตรายจากบุหรี่ทุกรูปแบบ
“ทำมาได้สักระยะหนึ่งก็ได้ผลที่น่าพอใจ เห็นได้ชัดว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง มีผู้เลิกบุหรี่ได้แล้วกว่า 300 คน เกิดเป็นบุคคลต้นแบบ เกิดนวัตกรรมสุขภาพชุมชน ขั้นต่อไปจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา ค้นหาวิธีในรูปแบบต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมช่วยเลิกบุหรี่ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในตำบลโคกมะม่วงเกิดความตระหนักมากยิ่งขึ้นเพราะยังมีบางส่วนที่กลับไปสูบต่อ วิธีที่คิดกันไว้เบื้องต้น จะเป็นการเปิดคลิปยูทูปให้เห็นอันตรายที่ร่างกายได้รับจากควันบุหรี่ จัดทำคู่มือการเลิกบุหรี่ รวมถึงการนำเอาหลักพุทธศาสนามาใช้ ให้คนที่ตั้งใจเลิกบุหรี่มาสาบานตน” ผอ.รพ.สต.บ้านเทพพัฒนา แจงเพิ่ม พร้อมทั้งบอกด้วยว่า การเลิกบุหรี่ได้นั้น ผลที่ได้ไม่ใช่แค่ชุมชน แต่สุขภาพของตัวผู้เลิกสูบเองจะกลับมาแข็งแรง ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยเงินเหลือจากการซื้อบุหรี่นั่นเอง
ขณะที่ แสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะถือว่าเป็นการกระทำผิดทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535และมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 19)พ.ศ. 2553 กำหนดพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่เอาไว้ แต่ยังมีหลายคนที่ไม่ทราบ ดังนั้นการรณรงค์ให้ชุมชนปลอดบุหรี่ จึงเป็นการนำแนวทางของกฎหมายมาสนับสนุนให้คนเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งเมื่อคนในชุมชนร่วมมือกัน ก็จะเกิดการรับรู้ว่าสถานที่ใดสูบได้ สถานที่ใดสูบไม่ได้ ชาวบ้านจึงเกิดความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายจนเกิดเป็นชุมชนรณรงค์ปลอดบุหรี่
การไม่สูบบุหรี่เป็นหนึ่งในสุขภาวะที่ดี ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่ทำให้เกิดโรค โดยเป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์ว่า ควันบุหรี่เป็นผลเสียแก่สุขภาพของผู้สูบ และผู้ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น อาจทำให้เกิดมะเร็งของปอดและอวัยวะอื่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อีกทั้งควันบุหรี่ยังทำให้โรคบางโรค เช่น โรคหอบ หืดหรือโรคภูมิแพ้มีอาการกำเริบขึ้น
ดังนั้นหากชุมชนใดปลอดบุหรี่ สุขภาพของคนในชุมชนก็จะดีขึ้น และยังเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชน เป็นเขตพื้นที่ปลอดภัยจากควันบุหรี่มือสอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต