‘ชุมชนเลิศสุขสม’ ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ

ที่มา : MGR Online 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


\'ชุมชนเลิศสุขสม\' ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ thaihealth


เมื่อพูดถึงชุมชนใต้สะพาน ส่วนใหญ่จะนึกถึงพื้นที่ที่เล็กแคบ อึดอัด ทับทึม สกปรกไปด้วยขยะ และความไม่ปลอดภัย เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกลอบจี้ชิงทรัพย์ได้ง่ายดาย เรียกได้ว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมขนาดเล็กภายในเมืองที่ซุกซ่อนไปด้วยความอันตราย 


แต่จากความร่วมมือของคนในชุมชน และการสนับสนุนจากหลากหลายหน่วยงานภายนอกในการปรับพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ พบว่า สามารถทำให้พื้นที่ที่ดูอันตรายและไม่ปลอดภัย กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่สุขภาวะของทุกคนในชุมชนได้ ที่เห็นได้ชัดคือ พื้นที่ใต้สะพานบางขี้แก้ง “ชุมชนเลิศสุขสม” เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ


พื้นที่ใต้สะพานบางขี้แก้ง ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่ชุมชนเมือง ให้กลายเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมสุขภาวะได้ ซึ่งความสำเร็จของชุมชนเลิศสุขสม เป็นความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม สำนักงานเขตภาษีเจริญ ภาคีเครือข่าย และคนในชุมชนเอง


นางอารมณ์ ยมทอง อายุ 74 ปี ประธานชุมชนเลิศสุขสม เขตภาษีเจริญ เล่าว่า ตนเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี แต่มาอาศัยอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งในอดีตพื้นที่ชุมชนแห่งนี้จะเป็นเรือกสวนไร่นา และมีคูคลองล้อมรอบ แต่เมื่อมีการตัดถนนผ่านและสร้างสะพานข้ามคลอง ทำให้ชุมชนถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ขณะที่พื้นที่ใต้สะพานกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เน่าเหม็นด้วยขยะ อัตลักษณ์ของชุมชนเริ่มสูญหาย และวิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนกลายเป็นต่างคนต่างอยู่มากขึ้นระหว่างชุมชน 2 ฝากถนนและ 2 ฝากคลอง


\'ชุมชนเลิศสุขสม\' ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ thaihealth


“หลังจากทาง สสส.และศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน ม.สยาม เข้ามาชวนพัฒนาให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ ก็ได้มีการหารือในชุมชนและเห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยน โดยแก้ไขข้อจำกัดของชุมชนคือพื้นที่ใต้สะพาน โดยมีการนำดินมาถมที่ใต้สะพาน ทำเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับคนในชุมชน ทั้งการประชุมชุมชน เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย เป็นพื้นที่พบปะพูดคุยสำหรับเด็กๆ และคนในชุมชน รวมถึงมีการฟื้นฟูอัตลักษณ์ของชุมชน นั่นคือการปลูกเตย และมีการพัฒนางานฝีมือจากเตย เช่น การทำดอกไม้จากเตย การทำพวงมาลัย และล่าสุดจะมีการทำดอกไม้จันทน์จากเตย ซึ่งจะฟื้นฟูให้เมื่อพูดถึงเตยจะต้องนึกถึงชุมชนเลิศสุขสม” นางอารมณ์ กล่าว


นางอารมณ์ เล่าอีกว่า หลังจากร่วมกันพัฒนาพื้นที่ของชุมชนให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะแล้ว คนในชุมชนมีความภูมิใจมาก เพราะมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ จากพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลายเป็นพื้นที่วิมานของคนในชุมชนได้ การันตีว่าพื้นที่ใต้สะพานบางขี้แก้งของชุมชนมีความปลอดภัย สามารถลบภาพลักษณ์เดิมๆ ที่มองว่าพื้นที่ใต้สะพานอันตรายไม่ปลอดภัยได้อย่างสิ้นเชิง


'ชุมชนเลิศสุขสม' ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ thaihealth


สำหรับการเลือกพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะนั้น ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาชุมชน (ศวพช.) ม.สยาม อธิบายว่า โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2555 ที่ทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีข้อจำกัดของพื้นที่ โดยร่วมกับ สสส.เข้าไปในพื้นที่ 53 ชุมชนเขตภาษีเจริญ ซึ่งจากการเข้าไปพูดคุยหารือกับคนในชุมชนพบว่าปีแรก มีชุมชนพร้อมที่จะอยากเปลี่ยนแปลงพัฒนาชุมชน 7 แห่ง หนึ่งในนั้นคือชุมชนเลิศสุขสม ปีที่สองเพิ่มอีก 10 กว่าชุมชน ปีที่สามครอบคลุมทุกชมชนในเขต และปีที่ 4 นี้การดำเนินการจะให้ชุมชนเหล่านี้เป็นต้นแบบเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะในชุมชน ซี่งมีพื้นที่อาสาขึ้นมาเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบทั้งหมด 10 ชุมชน รวมถึงชุมชนเลิศสุขสมด้วย


“จากการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะดังกล่าว ทำให้ชุมชนต่างๆ ได้รับการประเมินเป็นชุมชนเกรด A ของ กทม. และผู้ว่าราชการฯ กทม.ก็ออกนโยบายเพื่อที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะอย่างน้อย 1 พื้นที่ต่อ 1 เขต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างพื้นที่เขตภาษีเจริญ ซึ่งมีพื้นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์ หรือพื้นที่ที่จำกัด 53 ชุมชนรวมกว่า 12,204 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สุขภาวะหมดแล้วนั้น หากตีเป็นมูลค่าโดยเทียบเคียงกับราคาที่ดินตามการประเมินแล้วจะพบว่า พื้นที่เหล่านี้มีมูลค่าถึง 212 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเป็นพื้นที่สุขภาวะด้วย ดังนั้น หากมีการพัฒนาพื้นที่ที่ไร้ประโยชน์ รกร้างเช่นนี้ให้กลายเป้นพื้นที่สุขภาวะที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนได้ ก้จะช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดิน ช่วยสร้างเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งต่อให้ใช้เงินลงทุนมากขนาดไหนก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ หากไม่สามารถร่วมกับชุมชนในการพัฒนาพื้นที่” ผศ.ดร.กุลธิดา กล่าว


\'ชุมชนเลิศสุขสม\' ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ thaihealth


ด้าน ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบเป็นหนึ่งในภารกิจของ สสส.ด้วย ซึ่งการจะเป็นพื้นที่สุขภาวะได้นั้น จะต้องเป็นพื้นที่ที่ดีทั้ง 4 มิติคือทั้งกาย จิต สังคม และปัญญา อย่างพื้นที่ใต้สะพานบางขี้แก้ง ชุมชนเลิศสุขสม ก็ถือเป็นพื้นที่สุขภาวะโดยสมบูรณ์ เพราะมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการมีกิจกรรมทางกายหรือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับคนในชุมชน มีพื้นที่ในการพบปะพูดคุยหารือ ขณะที่สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น เพราะมีมาตรการในการจัดการปัญหาขยะ มีการปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มออกซิเจน ที่สำคัญยังมีการส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนคือ การปลูกเตย นับเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน


“ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจาก ศวพช. ม.สยาม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือจากผู้คนในพื้นที่ชุมชน หน่วยงานทุกภาคส่วน ช่วยตอบโจทย์ ที่นำไปสู่การจัดการข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ได้อย่างชัดเจน ทั้งช่วยให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนพื้นที่รกร้างอันตรายเป็นแปลงผัก พื้นที่ออกกำลังกายของคนในชุมชน และยังสามารถยกระดับเป็นนโยบายของเขตภาษีเจริญในการพัฒนาพื้นที่ซึ่งสสส.คาดหวังว่าจะขยายผลไปสู่พื้นที่เขตอื่นๆ ของ กทม. ซึ่งหากได้รับการหนุนเสริมจากภาคนโยบายของ กทม. ชุมชนและทุกฝ่ายอย่างบูรณาการ จะนำมาซึ่งพลังในการเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะที่ดีของคนเมืองกรุงต่อไป” ดร.ไพโรจน์ กล่าว


นอกจากพื้นที่ชุมชนเลิศสุขสมแล้ว ยังมีพื้นที่ชุมชนเขตภาษีเจริญอีกหลายแห่งที่เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เช่น ชุมชนศิรินทร์และเพื่อน ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะแหล่งเรียนรู้การจัดการขยะ ชุมชนคลองลัดชี ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะแหล่งเรียนรู้การจัดการเห็ดพื้นที่สุขภาวะ ชุมชนพูนบำเพ็ย ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะสถานีท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทางเดินอุโมงค์ผักและดินพื้นที่สุขภาวะ เป็นต้น ซึ่งแต่ละชุมชนก็จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไปตามการพัฒนาของข้อจำกัดในพื้นที่

Shares:
QR Code :
QR Code