ชุมชนเจาะกะพ้อใน อนุรักษ์นกเงือกป่าบูโด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ฅนใต้สร้างสุข
"นกเงือก" ถือเป็นตัวแทนของ "ความสมบูรณ์ของป่า" จากการมีพื้นที่บินหากินกว้างไกล เมื่อกินลูกไม้เข้าไปและขย้อนเมล็ดออกมา ก็จะสามารถนำเมล็ดพันธุ์พืชไปทิ้งไว้ยังที่ต่างๆ นกเงือกจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่พันธุ์ของต้นไม้ ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติของผืนป่า
"เขาบูโด" เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี ที่แบ่งเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีฝนตกตลอดทั้งปี และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมาก เป็นทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน "เจาะกะพ้อใน" ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี
แม้ว่าผืน "ป่าบูโด" ทั้งหมดจะถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานเพื่อการอนุรักษ์ แต่ปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการล่า "ลูกนกเงือก" เพื่อเอาไปขาย ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน เพราะป่าไม้และนกเงือกเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า แกนนำชาวบ้านในพื้นที่จึงได้รวมตัวกันดำเนินงาน "โครงการสร้างบ้านสร้างป่าบูโดให้น่าอยู่" เพื่อร่วมกันปกป้องผืนป่าหลังบ้านของพวกเขา และอนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่คู่กับป่าบูโด โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายซัยฟุดีน เจ๊ะฮะ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าให้ฟังว่า จากการทำงานเป็นครูอยู่ในพื้นที่และร่วมกับชาวบ้าน พบว่าในพื้นที่ป่าของชุมชนนั้นยังคงมีปัญหาจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และการลักขโมยลูกนกเงือกไปขาย ประกอบกับสมาชิกผู้อาวุโสในชุมชนหลายคนในอดีตเคยทำงานเป็นผู้ช่วย "ดร.พิไล พูลสวัสดิ์" ผู้เชี่ยวชาญด้านนกเงือกของเมืองไทย ในการเก็บข้อมูลและติดตามชีวิตของนกเงือกในเทือกเขาป่าปูโดมานานนับปี จึงเกิดแนวคิดที่จะประสานความร่วมมือของคนในชุมชน โดยเชื่อมโยงกับทุนเดิมที่มีอยู่ไปสู่แนวทางการอนุรักษ์ผืนป่าบูโด โดยใช้นกเงือกเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน
"ในการทำงานเราใช้หลักของ 3 อ. คือ หนึ่งอามานะห์ หรือความรับผิดชอบเราที่มี ไม่เฉพาะแค่ตัวเรา แต่หมายรวมไปถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม สอง-อิสตีกอมะห์ คือการทำอย่างต่อเนื่อง ที่เราต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน และ สาม-อิคลาส ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำเพื่อคนโดยส่วนรวม โดยเฉพาะในศาสนาอิสลามจะสอนว่า เราต้องไม่ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง เราจะทำเพื่อสังคมและชุมชนที่เราอยู่ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการทำเพื่อชุมชนและสังคมของเราเกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และให้มีความน่าอยู่ต่อไป"
โดยโครงการนี้ได้ใช้ "นกเงือก" เป็นตัวเดินเรื่อง และเป็นเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ชุมชน และสถานศึกษา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ทั้งการสำรวจพื้นที่ป่าไม้และรังนกเงือกเพื่อเก็บข้อมูล การกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์บ้านเจาะกะพ้อในเพื่อปลูกป่าทดแทน มีการจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้นกเงือกบ้านเจาะกะพ้อใน เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ มีการจัดกิจกรรมนำองค์ความรู้จากป่าลงไปสู่ห้องเรียน และการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยจัดทำเส้นทางเดินทางเพื่อศึกษาธรรมชาติและชมนกเงือก
ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องการตัดไม้และขโมยลูกนกเงือกในพื้นที่ป่าเขาบูโดนั้น ชุมชนแห่งนี้ใช้วิธีการรวมตัวกันเดินไปพูดคุยกับครอบครัวของผู้ที่ทำผิด และร้องขอให้หยุดการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่มีการจับลูกนกเงือกไปขายอีกเลย และให้สมาชิกในชุมชนช่วยกันสอดส่อง ติดตาม เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
แวอุเซ็ง แต ครูภูมิปัญญาด้านการเกษตรของชุมชน เล่าว่า ป่าหลังชุมชนนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก หลายคนแทบไม่รู้เลยว่าจังหวัดปัตตานีนั้นมีพื้นที่ติดกับป่าบูโดและมีแหล่งชมนกเงือก แต่ถ้าเราไม่เริ่มอนุรักษ์ตั้งแต่วันนี้ ลูกหลานของเราคงจะได้ยินแต่ชื่อ และคงไม่มีโอกาสได้เห็นว่านกเงือกตัวจริงนั้นเป็นอย่างไร เราจึงต้องนำเสนอเรื่องนี้ออกไปให้คนได้รู้จัก ทางชุมชนจึงได้มีการสำรวจและจัดทำเส้นทางเดินทางเพื่อศึกษาธรรมชาติในขึ้นหลายเส้นทาง และมีการสร้างจุดบังไพรเพื่อศึกษาชีวิตนกเงือกจำนวน 6 จุด
"ป่าบูโดหลังชุมชน นอกจากนกเงือกแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย ทั้งชะง่อนหน้าผาหินที่คนสามารถเข้าไปหลบฝนหลบแดดอยู่ด้านใต้ถึง 30-40 คน มีจุดชมวิวที่ในอดีตเคยมีเฮลิคอปเตอร์ตก ระหว่างทางเดินป่าก็มีน้ำตกบาตูดีเล็ง ที่หมายถึงกำแพงกั้นลำน้ำที่สวยงาม มีเส้นทางเดินป่าระยะสั้นถึง 3 เส้นทาง และเส้นทางเดินป่าแบบที่ต้องไปค้างคืนก็มี"
นายมะซูดิง ซีบะ ปราชญ์ท้องถิ่นด้านนกเงือก เล่าให้ฟังว่า มีประสบการณ์เรื่องนกเงือกมาตั้งแต่สมัยทำงานกับอาจารย์พิไล ทำให้รู้จักรังนกเงือกแทบทุกรังในป่าบูโดแห่งนี้ โดยผืนป่าหลังชุมชนของเรามีนกเงือกอาศัยอยู่ถึง 6 สายพันธุ์ที่หายากอย่าง นกเงือกหัวแรด-หัวหงอก ก็สามารถพบได้ที่ป่าหลังชุมชนของเรา
"ก่อนหน้านี้จะมีนกเงือกบินเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 80 ตัว แต่เมื่อได้มีให้ชุมชนร่วมเฝ้าระวังดูแลไม่ให้มีการตัดไม้และขโมยนกเงือก โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีโพรงหรือรังของนกเงือกมาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ก็พบว่ามีนกเข้ามาอาศัยหากินในป่าหลังชุมชนเพิ่มขึ้น 200-300 ตัว หลายตัวเริ่มมีความคุ้นเคยกับชาวบ้านก็มาทำรังใกล้กับชุมชนมากขึ้น และพบตัวได้ง่ายกว่าแต่ก่อน"
และจากการสำรวจ "โพรง" หรือ "รัง" ของนกเงือกในพื้นที่ป่าของชุมชน พบว่ามีประมาณ 20 รัง และบางรังทางชุมชนยังได้ร่วมกันปีนขึ้นไปตัดแต่งกิ่งไม้บนต้นไม้สูงใหญ่ ให้มีความเหมาะสมเพื่อให้นกเข้าโพรงได้สะดวกมากขึ้น โดยล่าสุดก็พบว่าทั้ง 20 รังนั้นมีนกเงือกเข้ามาใช้โพรงเพื่อวางไข่แล้ว
นายแวอุเซ็ง แตปราชญ์ชาวบ้าน มักจะกล่าวย้ำเมื่อมีการประชุมพูดคุยกันในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน เพื่อให้สมาชิกในชุมชนเกิดความตระหนัก รักและหวงแหนป่าอยู่เสมอๆ ว่า "นกจะอยู่ได้ต้องมีต้นไม้ใหญ่ ถ้ามีต้นไม้ ป่าไม้ก็สมบูรณ์ เมื่อป่าสมบูรณ์ก็จะเป็นทั้งแหล่งน้ำเพื่อกินและใช้ในการเกษตร และเป็นแหล่งอาหารของชุมชนไปตลอด"
"สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ก็คือการส่งไม้ต่อ เราจะต้องส่งความรู้ที่เรามีอยู่ไปถึงคนรุ่นต่อไปอย่างเด็กประถมและมัธยม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืน ในปีแรกนั้นเราเน้นให้เด็กๆ ได้ศึกษาบริบทในพื้นที่ และให้รู้ว่ามีนกเงือกอยู่จริง โดยความรู้จากป่าผ่านการจัดการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของนกเงือกและผืนป่าต้นน้ำ และเรียนรู้ว่าวิถีชีวิตของชุมชนและอาชีพต่างๆ นั้นล้วนต้องพึ่งพาอยู่กับป่าบูโดปีต่อไปเราจะเน้นเรื่องของการพัฒนานักเรียน สร้างองค์ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริงๆ และมีความสามารถที่จะถ่ายทอดไปสู่คนอื่นๆ ผ่านการเป็นมัคคุเทศก์น้อย เพื่อที่จะขยายผลสร้างให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้" นายซัยฟุดีน เจ๊ะฮะ กล่าวสรุป
ภาพวาดของ "นกเงือก" ที่อยู่บริเวณป้ายบอกทางเข้าชุมชนบ้านเจาะกะพ้อใน จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงการดำรงอยู่ แต่สื่อให้เห็นถึงเครื่องมือในการสานและสร้างพลังของชุมชน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าบูโดให้กลายเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคง และพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่การจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชุมชนแห่งนี้อย่างยั่งยืน